• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ยกเครื่อง “กม.แข่งขันการค้า” บังคับใช้ 11 ปี ไม่เคยเอาผิดใคร

ยกเครื่อง “กม.แข่งขันการค้า” บังคับใช้ 11 ปี ไม่เคยเอาผิดใคร

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็ว ๆ นี้ กรมจะเสนอนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยตนจะเป็นประธาน ร่วมกับกรรมการจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน และตัวแทนผู้บริโภค เป็นต้น
 
เพื่อปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพื่อเตรียมสร้างกติกา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการแข่งขันในธุรกิจอย่างเสรี ภายหลังจากไทยรวม เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 แล้ว

"พ.ร.บ .แข่งขันฯมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลา 11 ปี แต่ยังไม่สามารถดำเนินการกับ ผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้เลย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มีผลบังคับใช้มา 10 ปีเอาผิดได้หลายคดี ในเวียดนามก็เพิ่งยกร่างหลังไทย 4 ปี ตอนนี้มีการพิจารณาคดี 30-40 คดี และมาเลเซียก็มีการยกร่างกฎหมายฉบับนี้สำเร็จแล้ว เพราะตามร่างการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) กำหนดให้แต่ละประเทศไป ยกร่างกฎหมายของตัวเอง แล้วค่อยมาคุยกันในอาเซียนว่า จะมีการดำเนินการกับธุรกิจภายในอาเซียนให้แข่งขันเป็นธรรมได้อย่างไร"

นางสาวชุติมา กล่าวว่า จุดอ่อนของ พ.ร.บ.ฉบับนี้หลังจากที่ใช้มา 11 ปีก็คือ เป็นกฎหมายที่การระบุขอบเขตไว้เป็นกรอบกว้าง ๆ จึงต้องมีการปรับปรุงกลไกการทำงานให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนไป โดยมีสภาพการแข่งขันเสรีมากขึ้น ดังนั้น จุดหนึ่งที่อาจจะมีการพิจารณาในการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ การปรับให้สำนักงานแข่งขันทางการค้า ซึ่งปกติอยู่ภายใต้กรมการค้าภายใน ออกเป็นหน่วยงานอิสระ คล้ายกับกรมสวบสวนคดีพิเศษ

ล่าสุด มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุให้ต้องเร่งปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพราะความล่าช้าในการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี เพื่อรวมร่างของกรมการค้าภายในกับร่างผู้แทนการค้าไทยเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโชห่วย ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันฯ จึงเป็นทางออกใหม่ที่ดูแลพฤติกรรมการแข่งขันระหว่างรายใหญ่- รายเล็กให้เกิดความเป็นธรรมด้วย

สำหรับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ที่มีวัตถุประสงค์จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไม่ให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้ความมี "อำนาจเหนือตลาด" ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมต่อกิจการขนาดย่อม เกี่ยวพันกับธุรกิจ โดยกฎหมายฉบับนี้จะแบ่งออกเป็น 7 หมวดดังนี้

หมวด 1 ว่าด้วยคณะกรรมการการ แข่งขันทางการค้า กำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีหน้าที่เสนอแนะรัฐมนตรี ในการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายนี้ ประกาศกำหนดส่วนแบ่งตลาด ยอดขายของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละ ประเภทที่มีอำนาจเหนือตลาด

หมวด 2 ว่าด้วยการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
หมวด 3 ว่าด้วยการป้องกันการผูกขาด ห้ามผู้มีอำนาจเหนือตลาดดำเนินการการค้าที่ไม่เป็นธรรม แทรกแซงการดำเนินธุรกิจของผู้อื่น
หมวด 4 ว่าด้วยการขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาต การดำเนินการเพื่อให้เกิดการรวมธุรกิจ
หมวด 5 ว่าด้วยการฟ้องคดีเรียก ค่าเสียหาย
หมวด 6 ว่าด้วยการอุทธรณ์ และ
หมวด 7 ว่าด้วยบทลงโทษ