กองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือ บก.ปอศ. ประกาศผลงานปราบปรามซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ล่าสุดระบุว่า ได้บุกตรวจ 5 โรงงานออกแบบและผลิตเครื่องเขียนและบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรปราการและชลบุรี ตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเมินว่าทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ต้องเสียรายได้ไปหลายล้านบาท
บก.ปอศ.ไม่เปิดเผยชื่อบริษัทที่ได้บุกตรวจค้น ระบุเพียงว่า 1 ใน 5 เป็นบริษัทออกแบบและผลิตเครื่องเขียน ที่มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านบาท และมีลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำมากมาย โดยทั้งหมดถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่า ฝ่ายออกแบบของบริษัทดังกล่าว ใช้ซอฟต์แวร์ออโต้เดสค์เถื่อน ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มูลค่าของซอฟต์แวร์ออโต้เดสค์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์นี้ สูงถึง 1.8 ล้านบาท กรรมการของบริษัท จึงถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อาจถูกปรับและจำคุกได้
พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ กองบังคับการ การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า
“เรายังคงดำเนินการตรวจสอบและสืบสวนบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องสงสัยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งมา เราจะเข้าตรวจค้นบริษัทที่ต้องสงสัยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไปและจะจับกุม หากพบว่ามีการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จริง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หรือว่าอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม”
1 วันหลังจากการเข้าตรวจค้นจับกุมโรงงานผลิตเครื่องเขียน เจ้าหน้าที่ตำรวจบก. ปอศ. เข้าตรวจค้นบริษัทออกแบบและรับเหมาก่อสร้างอีกสองแห่ง ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี บริษัทหนึ่งมีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 200 ล้านบาท
ส่วนอีกหนึ่งบริษัท จัดว่าเป็นธุรกิจขนาดกลาง ประเมินมูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้ราว 688,000 บาท และ 1,100,000 บาทตามลำดับ บริษัททั้งสองแห่งมีเจ้าของเป็นคนไทย
บริษัทอีกสองแห่งซึ่งแห่งหนึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวอังกฤษ และอีกแห่งหนึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในเดือนนี้เช่นกัน
ตำรวจพบว่า บริษัทแรกซึ่งดำเนินธุรกิจด้านวิศวอุตสาหการ ใช้ซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินงานที่สาขาของบริษัทในจังหวัดระยอง บริษัทแห่งนี้ ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ในการให้บริการแก่ลูกค้าในละแวกนั้น ซึ่งส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน มูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตกราว 800,000 บาท
ส่วนบริษัทที่สองซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลนั้น มูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตรวจพบตกราว 5 แสนบาท บริษัทแห่งนี้มีสำนักงานขายอยู่ในกรุงเทพฯ และใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ดำเนินการวางแผนการผลิตและติดตั้งเครื่องจักรให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย
ที่มา ASTVผู้จัดการ