นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา
การปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เปิดเผยว่า
ขณะนี้ คณะกรรมการได้ดำเนินงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ในเชิงเทคนิคครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรคสองแล้ว ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์
แนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ
และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ตลอดจนล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ได้เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
เพื่อจัดตั้งองค์การอิสระชั่วคราว ตลอดจนร่าง
พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การอิสระถาวรแล้ว
ขณะที่
การทำงานเพื่อแก้ปัญหาในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากนี้ไป
จะต้องรอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ
ขึ้นมาทำหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระชั่วคราวขึ้นมาภายใน 60 วัน
โดยโครงสร้างของคณะกรรมการประสานงานฯ มองว่า
ควรมีรูปแบบเช่นเดียวกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และมีความเป็นไปได้ว่า
คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ อาจเป็นคณะกรรมการประสานงานฯ
แต่ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่จะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
ส่วนองค์การอิสระถาวร
ต้องตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติเฉพาะนั้น ต้องมีกระบวนการผ่านความเห็นชอบจาก
รัฐสภาและคงไม่ทันการพิจารณาในสมัยประชุมที่กำลังจะเปิดขึ้นนี้
เบื้องต้นคาดว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-12
เดือน กว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นมาได้ จากนั้น จะต้องตั้งสำนักงาน หาบุคลากร
และงบประมาณ รวมแล้วต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 15 เดือน
นายอานันท์กล่าวว่า
ขณะนี้งานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ
ที่ยังเหลืออยู่ได้แก่ การพิจารณาผลจากที่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด
คือคณะอนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงรายการโครงการ
หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยมีนายธงชัย
พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการศึกษาและเติมเต็มทางเทคนิค
โดยมีนายสุทิน อยู่สุข เป็นประธาน ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 2 เดือน
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ก่อนจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป.
ที่มา – ไทยรัฐ
ข้อมูลเพิ่มเติม
– ร่าง พ.ร.บ.ตั้งองค์การอิสระ(ถาวร)ชำแหละโครงการลงทุนกระทบ สวล.-สุขภาพ ปชช.
– โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 คืออะไร ?