นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยภายหลังประชุม คณะกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งรัดการจัดเก็บรายได้ กทม. ว่า ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2553 เพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้า โดยได้กำหนดมาตรการในการจัดเก็บภาษีป้าย ทั้ง ที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ภาษีที่ดินและมรดก เป็นต้น ซึ่งได้วางกรอบเริ่มดำเนินการจัดเก็บภาษีในต้นปีงบประมาณ 2553 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
รองผู้ว่า กทม.กล่าวว่า ระหว่างนี้จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้ครอบครองป้ายรับทราบข้อมูล โดยในส่วนของป้ายโฆษณาที่ติดตั้งตามอาคาร รถบรรทุกและรถสาธารณะ จะต้องเสียภาษี ซึ่ง กทม.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ว่า
ป้ายที่มีการเปลี่ยนหน้าป้ายโฆษณาใหม่ จะต้องถูกประเมินภาษีใหม่ ส่วนป้ายที่ติดตั้งตามสถานที่เอกชน เช่น ชายคาบ้าน กทม. จะให้เจ้าหน้าที่ลงไปประเมินและเรียกเก็บภาษีด้วย ตลอดจนป้ายโฆษณาที่ติดบนต้นไม้ เสาไฟฟ้าที่ผิดกฎหมาย เช่น ป้ายเงินกู้
กทม.จะได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้ออกตระเวนเก็บป้ายออกให้หมด และโทรศัพท์ติดตามเพื่อให้มาจ่ายภาษี หากยังฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองมีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
นายธีระชน กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายกองรายได้ สำนักการคลัง กทม.ไปศึกษาข้อมูลแนวทางการจัดเก็บภาษีบริษัทเอกชน ที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ขณะนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทมหาชนแล้ว
รวมถึงการจัดเก็บภาษีจากสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำการค้า เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven สนามกอล์ฟ ในส่วนราชการ เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังนั้น จะขอความร่วมมือจาส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนภาษีทรัพย์สินและมรดก กทม.จะเตรียมการไว้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะดำเนินการจัดเก็บ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี จะสามารถจัดเก็บได้ โดย กทม.จะเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่รายได้และระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างจริงจริง
นายธีระชน กล่าวว่า ทั้งหาก กทม.สามารถจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ คาดว่า กทม.จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ กทม.สามารถจัดเก็บภาษีป้ายได้แล้ว 600 ล้านบาท ซึ่งจัดเก็บได้ตามเป้า 100% ในจำนวนนี้เป็นภาษีป้ายจากรถบรรทุกและรถขนส่งสาธารณะ 49 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กทม.จะได้เสนอขอแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ป้าย เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีป้ายที่ติดตั้งบนรถยนต์ส่วนตัวด้วย
สำหรับที่ผ่านมา กทม.ได้จัดเก็บภาษีป้ายจากรถโดยสารของ ขสมก. รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงป้ายที่ติดตามที่สาธารณะและของเอกชนรายใหญ่ เช่น น้ำอัดลมเป๊บซี่ โค้ก อย่างต่อเนื่อง
ที่มา คมชัดลึก