31 ส.ค. 2552 ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ ฟ้อง นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อายุ 65 ปี และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร อายุ 60 ปี อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจำเลยที่ 1 – 2
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา ม.157 ประกอบ ม.83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ม.4
ตามฟ้องโจทก์สรุปว่า พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต. ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี อดีต กกต. (เสียชีวิตแล้ว) และจำเลยทั้ง 2 ซึ่งเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐ ตาม ม.4 พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2541 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต
โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2547 จำเลยกับพวกร่วมกันประชุม แล้วมีมติเห็นชอบร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษของประธาน กรรมการ และ กกต. พ.ศ.2547 และให้ พล.ต.อ.วาสนา ประธาน กกต. ขณะนั้นออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของ กกต. พ.ศ.2547
กำหนดเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ ลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ให้กับจำเลยกับพวก เดือนละ 20,000 บาท โดยให้ใช้บังคับย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 เป็นต้นไป ทั้งที่จำเลยทั้ง 2 กับพวก ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 3 ก.ย. 2547 พล.ต.อ.วาสนา ประธาน กกต. ได้ลงนามออกในระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของ กกต. พ.ศ.2547 ฉบับลงวันที่ 3 ก.ย. 2547 อันเป็นการมีมติออกระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในวันที่ 6 ก.ย 2547 จำเลยกับพวกยังได้ประชุมแก้ไขระเบียบดังกล่าวในข้อ 2 จากเดิม
“ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 เป็นต้นไป ” แก้เป็น “ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2547 เป็นต้นไป ” จากนั้น ในวันที่ 13 ก.ย. 2547 พล.ต.อ.วาสนา ยังได้ลงนามออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของ กกต. พ.ศ.2547 ฉบับลงวันที่ 13 ก.ย. 2547
โดยแก้ไขข้อความในระเบียบเดิม กระทั่งวันที่ 28 ก.ย. 2547 จำเลยกับพวกได้อาศัยระเบียบดังกล่าว รับเงินค่าตอบแทนไปจากสำนักงาน กกต. คนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท เหตุเกิดที่สำนักงาน กกต. อาคารศรีจุลทรัพย์ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม.
ต่อมา พล.ต.อ.วาสนา พล.อ.จารุภัทร และ นายจรัล ได้ส่งเงินคืน สำนักงาน กกต. ชั้นไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ โดยขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้ง 2 ต่อจากคดีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลยทั้ง 2 ในคดีทุจริตจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 รวม 2 สำนวน รวม 6 ปี
ศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3015/2552 และนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 12 ต.ค. นี้ เวลา 09.00 น. ต่อมา ญาติทั้ง 2 คน ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ เป็นเงินสด คนละ 120,000 บาท ขอประกันตัว ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 120,000 บาท
ส่วน พล.ต.อ.วาสนา อดีตประธาน กกต. และ พล.อ.จารุภัทร อดีต กกต. และกลุ่มอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 13 คน ชุดที่มี นายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน และคณะผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา 3 คน ชุดที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร เป็นประธาน ซึ่งอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องด้วยนั้น
นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีหนังสือแจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ และแจ้งหมายให้ผู้ถูกกล่าวทั้งหมดทราบ มารายงานตัวต่ออัยการ ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาแล้ว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้อัยการยังไม่ได้กำหนดวัน ว่าจะยื่นฟ้องเมื่อใด เนื่องจากต้องรอว่า ป.ป.ช. ดำเนินกระบวนการแจ้งหมาย ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นที่เรียบร้อยเมื่อใด ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะใช้เวลาภายในกี่วัน ในการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหา
นายเศกสรรค์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับเหตุที่คดีของอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีต กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหมือนคดีที่ ป.ป.ช. ชุดที่มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รวม 9 คน เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา 157 ที่ออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง เมื่อปี 2548 เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่า นอกจาก ป.ป.ช. แล้ว องค์กรที่กระทำผิดให้ยื่นฟ้องคดีศาลอาญา
สำหรับคำสั่งให้ฟ้องอดีต กกต. และคณะผู้ตรวจการแผ่นดินฯ นั้น อัยการมีความเห็นตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และพิจารณาจากแนวทางคดี ที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกประธานและกรรม ป.ป.ช. ทั้งคณะ 9 คน ชุดที่มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย เป็นประธาน คนละ 2 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ทั้งนี้ คดีความผิดตาม มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือ ปรับ 2,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2552 อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 13 คน อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 4 คน และผู้ตรวจการแผ่นดินและอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน รวมแล้ว 20 คน
ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีร่วมกันออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนให้กับตนเองโดยมิชอบในลักษณะเหมาจ่ายรายเดือนคนละ 20,000 บาทต่อศาลอาญา
อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 1.นายกระมล ทองธรรมชาติ 2.นายจิระ บุญพจนสุนทร 3.นายจุมพล ณ สงขลา 4.นายผัน จันทรปาน 5.นายมงคล สระฏัน 6. นายมานิต วิทยาเต็ม 7.นายศักดิ์ เตชาชาญ 8.นายสุจิต บุญบงการ 9.นายสุธี สิทธิสมบูรณ์ 10. พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช 11.นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ 12.นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ 13.นายอุระ หวังอ้อมกลาง
อดีต กกต.ประกอบด้วย พล.ต.อ.วสานา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และพล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ
ผู้ตรวจการแผ่นดินประกอบด้วย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปราโมทย์ โชติมงคล และ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน นาย พูลทรัพย์ ปิยะอนันต์
คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ทางอาญาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 และส่งเรื่องให้อัยการสูงสูงสุดพิจารณา แต่อัยการสูงสุดใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนนานเกือบ 2 ปีจนถึงกลางปี 2552 จึงมีคำสั่งฟ้องอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีต กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดินโดยแยกออกเป็น 3 สำนวน โดยขอให้ ป.ป.ช.ออกหมายเรียกบุคคลทั้ง 20 คนเพื่อให้อัยการสูงสุดนำไปตัวฟ้องคดีต่อศาล
พนักงานอัยการพยายามดำเนินการเรื่องนี้อย่างเงียบ ๆ โดยอ้างว่า บุคคลทั้ง 20 คนล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่หรืออดีตเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง จึงต้องการให้เกียรติ ไม่ต้องการให้เป็นข่าวอื้อฉาว
ที่มา สำนักข่าวไทย และ มติชน