สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ส.อ.ท.) ได้จัดทำรายงาน
อุปสรรคปัญหาและข้อเสนอแนะทางด้านมาตรการภาษีอากรของภาคอุตสาหกรรม เสนอต่อ
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้
โดยรายงานฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบล้าสมัย
ในปีงบประมาณ 2551-2552 หน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง
ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยให้ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของหน่วยงาน อาทิ กรมสรรพสามิต,
กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
แต่การดำเนินการที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขกฎหมาย เฉพาะที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของส่วนราชการ
หรือที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศ
ไม่ได้ดำเนินการครอบคลุมทั้งฉบับ
รวมทั้งไม่เน้นการแก้ไขปัญหาของการประกอบธุรกิจ
กฎหมายศุลกากรที่บังคับใช้มายาวนานกว่า 80 ปี ตั้งแต่ปี 2469 กฎหมายภาษีสรรพสามิต
มีการแก้ไขการถ่ายโอนภารกิจด้านการออกใบอนุญาตขายสุราและยาสูบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในขณะที่ประเด็นข้อเสนอของภาคเอกชน ไม่ได้รับการพิจารณา
ประมวลรัษฎากรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีบางส่วนที่ล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ควรที่จะมีการศึกษาแก้ไขโครงสร้างภาษีเงินได้ทั้งระบบ
และร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ… มีการดำเนินการยกร่างมากว่า 10 ปี ก็ไม่สำเร็จ
สิ่งเหล่านี้ ภาคเอกชนอยากให้กระทรวงการคลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
อุปสรรคการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI
กรณีการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
จากกรณีที่ผู้ประกอบการ 1 ราย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหลายโครงการ
(หลายบัตร) หากในระยะเวลาบัญชีเดียวกัน บางโครงการมีกำไร บางโครงการขาดทุน
แต่กรมสรรพากร มีแนววินิจฉัยให้นำผลการดำเนินงานของทุกโครงการมาหักกลบกันก่อน เสมือนหนึ่งเป็นโครงการเดียวกัน
ซึ่งมีผลทำให้ผลขาดทุนของบางโครงการ ไม่สามารถยกมาใช้ประโยชน์ในทางภาษีได้
หลังสิ้นสุดระยะเวลาได้รับสิทธิ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้
ต่อมา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขอให้วินิจฉัยกรณีการตีความของกรมสรรพากร
ข้างต้น ที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์การคำนวณผลขาดทุนประจำปีของ BOI
ปรากฏว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น ตามแนวทางของ BOI
จึงขอให้กรมสรรพากรแก้ไขตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยไว้
ปัญหาการตีความการใช้ผลขาดทุนสะสม
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก
กรณีการนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา "ยกเว้น"
ภาษีเงินได้ไปหักจากกำไรสุทธิ ที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับสิทธิ
"ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ เป็นเวลา 8 ปี
และสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50
จากอัตราปกติเป็นเวลา
5 ปี นับจากวันพ้นกำหนดระยะเวลาได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับ "ยกเว้น"
ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี
ปรากฏว่า ผู้ประกอบการมีผลประกอบการขาดทุนเกิดขึ้น ทั้งในช่วง "ยกเว้น" และช่วงลดหย่อนภาษี
ผู้ประกอบการจึงได้นำผลขาดทุน ในช่วงที่ได้รับการ "ยกเว้น"
ภาษีมาใช้ก่อนผลขาดทุนในช่วงลดหย่อนภาษี
แต่แนวทางวินิจฉัยของกรม
สรรพากรมีความเห็นว่า
การคำนวณภาษีในช่วงที่ได้รับการลดหย่อนภาษี ต้องใช้ผลการขาดทุนในช่วงลดหย่อนภาษีก่อนที่จะใช้ผลขาดทุนในช่วง "ยกเว้น"
ภาษีกรมสรรพากรจึงได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องการให้นำผลขาดทุนประจำปีสะสม ในระยะเวลาได้รับการ "ยกเว้น"
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นก่อนมาหักกับกำไรสุทธิที่ได้เกิดขึ้น ภายหลังการพ้นระยะได้รับการ "ยกเว้น"
ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีในลำดับแรกก่อน
และหากในช่วงการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50
จากอัตราภาษีปกติมีผลขาดทุนอีก
ให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลขาดทุนประจำปี ในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้ได้อีกภายใน
5 ปี นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของปีที่ขาดทุนนั้น
จึงขอให้กรมสรรพากร พิจารณาทบทวนตามแนวทางที่ผู้ประกอบการเสนอมาด้วย
การยกเว้นภาษีสรรพสามิตกรณีการส่งออกสินค้า
กรมสรรพสามิตได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการ
"ยกเว้น" ภาษีสำหรับสินค้าที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ
หรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับการ "ยกเว้น" ภาษีสรรพสามิตวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของสินค้าที่ส่งออก
จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเท่านั้น
ส่งผลให้ไม่ครอบคลุมสินค้าส่งออกทุกรายการ
รวมทั้งในทางปฏิบัติมีความยุ่งยากมาก
หากผู้ประกอบการดำเนินการไม่ครบถ้วน ตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎกระทรวง
จะไม่ได้รับการ "ยกเว้น" หรือขอคืนภาษีสรรพสามิตของวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ไม่อยู่ในรายการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ที่ยังไม่สามารถขอคืนภาษีสรรพสามิตที่แฝงอยู่ในวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ และเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออกที่มีรีโมตคอนโทรล
ปรากฏมีแบตเตอรี่ที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
แต่ไม่สามารถขอคืนภาษีสรรพสามิตได้
สภาอุตสาหกรรมฯ จึงขอให้กรมสรรพสามิต พิจารณาให้ผู้ส่งออกสินค้าทุกรายการ ที่มีภาระภาษีสรรพสามิตได้รับการ
"ยกเว้น" ภาษีสรรพสามิต และขอให้ผู้ประกอบการขอ "ยกเว้น"
ภาษีสรรพสามิตของวัตถุดิบหรือส่วนประกอบได้ตั้งแต่ต้นทาง
มาตรการเงินชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (ชดเชยมุมน้ำเงิน)
มาตรการชดเชยมุมน้ำเงิน ถูกใช้เป็นมาตรการคืนภาษีให้แก่สินค้าส่งออกทั่วไป
มีความเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบที่มีกระบวนการผลิตในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังคงมีภาระภาษีแฝง จากการนำเข้าวัตถุดิบบางรายการ
หรือภาระภาษีแฝงอยู่ในวัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศ
ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยมุมน้ำเงินจึงจำเป็นต้องมีอยู่
ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตวัตถุดิบได้ทั้งหมด
ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลให้การสนับสนุน SMEs รายใหม่
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ SMEs
ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศโดยตรงได้ ทำให้ SMEs
ไม่สามารถขอใช้สิทธิตามมาตรา 19 ทวิ หรือขอใช้สิทธิตามมาตรา 36(1)(2) ได้
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการจ่ายเงินชดเชยมุมน้ำเงิน แต่ที่ผ่านมา
กระทรวงการคลังกลับมีนโยบายที่จะ "ยกเลิก" การจ่ายเงินชดเชยมุมน้ำเงิน
โดยให้เหตุผลว่า นโยบายดังกล่าวขัดกับความตกลง WTO มีปัญหาความล่าช้าและการทุจริต
สภาอุตสาหกรรมฯมีความเห็นว่า
การจ่ายเงินชดเชยมุมน้ำเงินเป็นการคืนภาระภาษีเพียงบางส่วนที่แฝงอยู่ในสินค้าส่งออก
จึงไม่ใช่การให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ อย่างที่กระทรวงการคลังกังวล
แต่เป็นการคืนภาษีเพียงบางส่วน ซึ่งรัฐได้เก็บจากภาษีวัตถุดิบจากผู้ประกอบการในขณะนำเข้า ดังนั้น การจ่ายเงินชดเชยมุมน้ำเงิน จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs รวมทั้งอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industries)
ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมฯ จึงเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขปัญหามุมน้ำเงิน
ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา จัดทำข้อมูลภาระภาษีแฝงร่วมกับภาคเอกชน
ทั้งนี้ โดยใช้ข้อมูลสูตรการผลิตที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ยื่นต่อกรมศุลกากร
โดยเลือกอุตสาหกรรมที่มีการขอเงินชดเชยสูงและเป็นสินค้าส่งออกหลัก
การกำหนดราคาเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี
แบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็น คือ
1) ฐานภาษี
กรมสรรพสามิตกำหนดให้ใช้ราคาขาย ณ โรงงานอุตสาหกรรม
แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความหมายว่า
ราคาที่ขายหรือพึงขายออกจากโรงงานที่แท้จริง
ซึ่งเป็นราคาตามปกติในทางธุรกิจโดยสุจริตและเปิดเผยก็ตาม
แต่ก็ยังเป็นประเด็นว่า
เมื่อมีการปฏิบัติจริงแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นหรือไม่
และสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
จึงควรพิจารณาหาวิธีการคำนวณภาษีที่ง่ายกว่า อาทิ
กรณีการคำนวณตามแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาเป็นทางเลือกใหม่ โดยไม่จำกัดเฉพาะวิธีการ
ใช้ราคาขาย ณ โรงงานอุตสาหกรรม
2) อัตราภาษีสรรพสามิต
ปัจจุบันคำนวณจากอัตราตามปริมาณและอัตราตามมูลค่า
แล้วแต่อัตราใดสูงกว่า ให้จัดเก็บตามอัตรานั้น
ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อคำนวณแล้ว
สินค้าส่วนใหญ่จะถูกจัดเก็บภาษีตามอัตรามูลค่า
เนื่องจากอัตราตามปริมาณต่ำมาก
สินค้าที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตส่วนมากจึงมิได้ใช้อัตราตามเกณฑ์ปริมาณ
อาทิ สินค้าเครื่องดื่ม
และยังพบอีกด้วยว่า มีช่องว่างระหว่างอัตราตามปริมาณกับอัตราตามมูลค่า
เมื่อคำนวณภาษีสรรพสามิตแล้ว ห่างกันมาก
จึงขอให้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาการกำหนดราคา
เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ