เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบอำนาจให้อัยการยื่นฟ้อง บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย คู่สัญญาซื้อขายรถ เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย มูลค่า 6,687 ล้านบาท เป็นจำเลยคดีแพ่ง เรื่องให้สัญญาเป็นโมฆะ และเรียกเงินกว่า 4,000 ล้านบาท
ซึ่ง กทม.ชำระค่างวดตามสัญญาไปแล้วคืน พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ระงับการจ่ายเงินค่างวดที่ 6 ซึ่ง กทม.จะต้องชำระให้ บริษัท สไตเออร์ฯ ในวันที่10 สิงหาคม ไว้ก่อน ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องนำพยานเข้าไต่สวนฉุกเฉินในวันเดียวกันนี้
วันเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. แถลงที่ศาลาว่าการ กทม.ว่า หลังจากที่พยายามแก้ไขปัญหานี้มานาน และพยายามเจรจาฉันมิตรกับผู้บริหารบริษัท เจเนอรัล ไดนามิกส์ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท สไตเออร์ฯ และขอให้ชะลอการจ่ายเงินงวดที่ 6 ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้
แต่บริษัท เจเนอรัลฯ เห็นว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะให้มีการระงับการจ่ายเงิน เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารกรุงไทย กับธนาคาร ไรเฟนเซ่น เซ็นทรัล กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กทม.จึงดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยมีหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้สั่งฟ้องบริษัท สไตเออร์ฯ ในนาม กทม.ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
เนื่องจากการลงนามในข้อตกลงความเข้าใจ หรือ เอโอยู (AOU-Agreement of Understanding) ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อซื้อขายรถและเรือดับเพลิง ไม่ถูกต้องสมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ทั้งนี้เป็นไปตามหนังสือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ส่งมาถึง กทม.เนื่องจาก ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วพบว่า การทำสัญญาซื้อขายเป็นไปโดยทุจริต และ อสส.ยื่นฟ้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใน 3 ประเด็น คือ
1.ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาซื้อขายบันทึกข้อตกลงซื้อขาย ตามข้อตกลงความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรออสเตรีย 2.สั่งห้ามไม่ให้จำเลยเรียกเก็บเงินงวดที่ 6-9 จำนวน 51,779,126.64 ยูโร จากธนาคารกรุงไทย และ 3.ขอให้ศาลสั่งให้ บริษัท สไตเออร์ฯ คืนเงิน กทม. รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ด้วย
วันที่ 7 สิงหาคม เวลา 15.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 13 ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องคดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ให้ศาลสั่ง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ระงับการจ่ายเงินค่างวดที่ 6- 9
ตามสัญญาซื้อขายรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย มูลค่า 6,687 ล้านบาท ให้กับบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาย์ ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย คู่สัญญาซื้อขาย ซึ่งค่างวดที่ 6 จะต้องชำระในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จำนวน 780 ล้านบาท รวมทั้งให้ระงับที่ ธนาคารกรุงไทยจะหักบัญชีเงินของกรุงเทพมหานคร โจทก์ ทุกบัญชีเพื่อชำระค่างวดสัญญา
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้ขอให้ธนาคารออก เลตเตอร์ ออฟ เครดิตนั้น โจทก์และธนาคารต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย และประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารในฐานะผู้ออก เลตเตอร์ ออฟ เครดิต ให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ ย่อมต้องผูกพันกับจำเลยในอันที่จะชำระเงิน ด้วยเงื่อนไขในเลตเตอร์ ออฟ เครดิต
เมื่อจำเลยได้ส่งสินค้าแก่โจทก์และยื่นเอกสารต่อธนาคารครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ ออฟ เครดิต ธนาคารจึงมีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ตามเงื่อนไขในเลต เตอร์ ออฟ เครดิตเท่านั้น เมื่อปรากฏว่า มีการเสนอเอกสารถูกต้องครบถ้วน ธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเลตเตอร์ ออฟเครดิตนั้น
หากธนาคารไม่ชำระเงิน โดยปราศจากเหตุผลมีน้ำหนักเป็นที่ยอมรับได้ ย่อมเกิดผลกระทบต่อภาพรวมและมีผลกระทบร้ายแรงต่อกิจการในการออกเลตเตอร์ ออฟ เครดิต ของธนาคารและลูกค้าของธนาคารที่ธนาคารออกเลตเตอร์ ออฟ เครดิตให้ เพื่อชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศในภายภาคหน้า ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินตามเลตเตอร์ ออฟ เครดิตดังกล่าว จึงต้องพิจารณาระมัดระวังอย่างยิ่ง
ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จำเลยกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่เจ้าพนักงานกระทำผิด จำเลยจึงมีความผิดในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมาย อาญา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542
การลงนามในข้อตกลงซื้อขายรถดับเพลิงและอุปกรณ์ จึงไม่ถูกต้องสมบูรณ์ มีการกระทำโดยไม่สุจริตอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเพียงมูลเหตุที่ทำให้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ยังไม่ถือว่าข้อเท็จจริงมีความชัดเจนเพียงพอหรือถือว่าเป็นที่สิ้นสุด
ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า เป็นการฉ้อฉลเกี่ยวกับระบบการออก การปฏิบัติตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ ออฟ เครดิตและการชำระเงินอย่างไร
พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวน จึงยังไม่เพียงพอที่จะให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินในงวดที่ 6-9 ตามเลตเตอร์ ออฟ เครดิต และห้ามไม่ให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ทุกบัญชี ที่เปิดไว้กับธนาคารดังกล่าวตามที่โจทก์ร้องขอ
หากข้อเท็จจริงในที่สุดจะได้ความว่า จำเลยได้ฉ้อฉลโจทก์และข้อตกลงไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อเรียกเงินค่าสินค้าที่มีการชำระแล้วคืน และอาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้อีกตามกระบวนการของกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ฝ่าย กทม. มีนายนิคม บุญพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นตัวแทนและคณะทำงาน รวมทั้งอัยการ มาฟังคำสั่ง ขณะที่ฝ่ายบริษัทสไตเออร์ฯ มีนายชนะ ตาดทอง ผู้ช่วยทนายความ มาร่วมฟังคำสั่งด้วย โดยนายนิคม กล่าวว่า ตามกฎหมายยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร กทม. ซึ่งมีอำนาจจะพิจารณา
ด้านอัยการ ซึ่งรับมอบอำนาจจาก กทม. ยื่นฟ้องคดี กล่าวว่า ตามกฎหมาย กทม.ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ แต่เนื่องจากค่างวดที่ 6 จะต้องชำระตามกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม นี้ ดังนั้น การอุทธรณ์จึงอาจไม่ทันเวลา เพราะหากยื่นอุทธรณ์ ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิจารณาและมีคำสั่ง ส่วน กทม.จะให้ยื่นอุทธรณ์คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระงับการจ่ายค่างวดที่ 7-9 อีกหรือไม่ ต้องสอบถามจาก กทม.
ด้านนายชนะ ผู้ช่วยทนายความ บริษัทสไตเออร์ฯ กล่าวว่า จะรายงานให้ทนายความผู้รับผิดชอบทราบ และรอดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนการพิจารณาคดีที่ กทม.ฟ้องเรียกเงินคืนจากบริษัทสไตเออร์ฯ และให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะโดยคดีที่ฟ้องดังกล่าว บริษัทสไตเออร์ฯ ยังไม่ได้รับสำเนาคำฟ้อง หากได้รับคำฟ้องแล้วจะทำคำให้การยื่นศาลต่อไป
แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ในทางคดีที่ กทม.ยื่นฟ้องเรียกเงินค่างวดที่ชำระบริษัทสไตเออร์ฯไปแล้วจำนวน 3,905 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น คดียังคงดำเนินต่อไป ซึ่งศาลทรัพย์สินฯ รับคดีไว้พิจารณาและนัดพร้อมคู่ความใน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 09.00 น.
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอดูคำวินิจฉัยของศาลก่อนว่า เหตุใดศาลจึงไม่คุ้มครองชั่วคราว แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ และต้องปล่อยให้ตัดบัญชีในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้ จะพยายามยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการระงับการจ่ายเงินรถดับ เพลิงในงวดต่อไป
ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม. กล่าวว่า พร้อมรับในคำตัดสินของศาล แต่มีช่องทางที่จะเดินหน้า ฟ้องสัญญาเป็นโมฆะต่อไปได้ เชื่อว่าในอนาคต จะมีผู้ส่งหลักฐานชิ้นสำคัญมาให้ กทม.ในการต่อสู้คดี ซึ่งเบื้องต้นเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินสินบนว่าได้โอนให้กับใครไปแล้วบ้าง
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะกำกับดูแลงานด้านการคลัง กล่าวว่า ได้ทำจดหมายถึงผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯ เพื่อระงับการจ่ายเงินรถดับเพลิง งวดที่ 6 การทำจดหมายครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกเงินคืนภายหลัง กรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโครงการจัดซื้อรถดับเพลิงมีการทุจริต