นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนารวมพลังป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 312 หน่วยงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 700 คนเข้าร่วม ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ว่า
การทุจริตที่น่ากลัวคือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นทุจริตโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีค่าโง่ทางด่วน 6,500 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแค่ใช้ความร่วมมือร่วมใจทุจริต ระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐและช่องโหว่ของระบบอนุญาโตตุลาการ ทำให้เงินใต้โต๊ะกลายมาเป็นเงินบนโต๊ะ แม้ว่า ต่อมาจะมีการต่อสู้คดีว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนทำให้ไม่ต้องเสียค่าโง่ทางด่วน
แต่จากการตรวจสอบ พบคดีที่พฤติการณ์คล้ายกับคดีค่าโง่ทางด่วนอีกกว่า 100 คดี ดังนั้น อีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ รัฐบาลจะเสนอให้ยกร่างกฎหมายเพื่อเลิกการใช้อนุญาโตตุลาการในสัญญาของภาครัฐ โดยให้คงไว้เฉพาะอนุญาโตตุลาการในกรณีสัญญาระหว่างเอกชนเท่านั้น
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต ภายใต้นโยบาย 1.คนไทยต้องไม่โกง 2.คดีทุจริตไม่มีอายุความ ตรวจสอบพบเมื่อใดสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ทันที
นอกจากนี้ จะเสนอกฎหมายให้ยึดอายัดทรัพย์ให้กลับคืนเป็นของแผ่นดินทั้งหมด แม้จะถ่ายโอนทรัพย์สินให้ทายาทไปแล้ว ก็ต้องยึดมรดกกลับคืน อย่างไรก็ตาม กรณีการยกเลิกอายุความคดีทุจริต ไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องการยกเลิกอายุความในคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่มีการหารือกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2549
ส่วนการยกเลิกอายุความ จะมีผลย้อนหลังหรือไม่ คงต้องให้นักกฎหมายได้วินิจฉัย แม้ที่ผ่านมา กฎหมายอาญาไม่สามารถย้อนหลัง ให้ไปเป็นโทษได้ แต่เรื่องนี้เป็นทฤษฎีกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิด
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า "ขอให้ข้าราชการทุกหน่วยงาน ร่วมกันตรวจสอบทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อลดปัญหาการทุจริต อย่าทำตัวให้เคยชินกับการรับสินน้ำใจ ซึ่งนานวันเข้าสินน้ำใจที่เคยรับตามน้ำ จะเปลี่ยนเป็นต้องให้และต้องจ่าย ทุกวันนี้สถาบันตุลาการ มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง ทำให้องค์กรมีปลาเน่าปะปนอยู่น้อยที่สุด"
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า การชี้มูลความผิด คดีทุจริตคอร์รัปชั่นแก่ข้าราชการระดับสูงหลายคดี ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทำให้คนในระดับผู้ใหญ่ของประเทศ ไม่มีที่อยู่
จึงขอให้ข้าราชการฝ่ายนิติกรและตรวจสอบภายใน ที่มาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ต้องนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ให้จริงจังกับเรื่องวินัยและกำลังเจ้าหน้าที่ ในการตรวจสอบองค์กรภายใน มิเช่นนั้น ปัญหาจะย้อนกลับมาถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ไล่ไปจนถึงผู้อำนวยการกอง หากองค์กรตรวจสอบภายใน ยังทำตัวเป็นไม้ประดับ มือจะเปื้อนและเอาตัวไม่รอด
ที่มา – มติชน