วันที่ 23 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ กิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก
กำหนดให้ใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปี เฉพาะกิจการเคเบิลทีวี คาดเดือนก.ค.นี้
เปิดให้ใบอนุญาตได้ ด้านชมรมทีวีดาวเทียม จี้จัดทำร่างฯ
ให้ใบอนุญาตทีวีดาวเทียมพร้อมกัน ระบุผู้ประกอบการสนใจลงทุนจำนวนมาก
คาดสิ้นปีเปิดอีก 30-40 ช่อง ลงทุนกว่า 2 พันล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
จ้างแรงงานกว่า 5 พันคน
คณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช.
เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
ร่างประกาศกทช. เรื่อง
หลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว
(กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) โดยมีผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นประมาณ 550 คน
ประเด็นสำคัญของร่างประกาศฯ เรื่อง คำนิยามของ
“กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก” คือ
การให้บริการโทรทัศน์ชนิดที่ผู้รับรายการ ประสงค์จะรับบริการตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการกำหนด ส่วน “กิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่” คือ
กิจการโทรทัศน์ซึ่งต้องไม่ขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ ตามกฎหมายองค์กรจัดสรร
คลื่นความถี่ฯ
ดร.พนา ทองมีอาคม ประธานคณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช.
กล่าวว่า ในร่างประกาศฯ นี้
จะกำหนดให้เฉพาะกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกเท่านั้น
ที่จะได้รับใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปี โดยกลุ่มที่เข้าข่ายตามร่างประกาศฯ
คือ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ทั้งที่ส่งสัญญาณภาพไปตามสายและส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม
เนื่องจากกิจการเคเบิลทีวี เป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน
โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) มาก่อน
แต่หลังจากการบังคับใช้
พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
ทำให้ใบอนุญาตจาก กปส. สิ้นสภาพไปด้วย
และยังไม่มีหน่วยงานใดโดยตรงมาดูแลกิจการเคเบิล
ระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ กสทช. ขณะที่กลุ่ม
“ทีวีดาวเทียม” ซึ่งถือเป็น คอนเทนท์ โปรวายเดอร์
เป็นกิจการที่ยังไม่เข้าข่ายที่จะได้รับใบอนุญาตชั่วคราวตามร่างประกาศฯ
ครั้งนี้
พ.อ. นที ศุกลรัตน์ คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช.กล่าวว่า กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีจำนวนมาก ทั้งช่องทีวีดาวเทียม,
ทีวี ออน โมบาย, ไอพีทีวี, วิทยุดาวเทียม เป็นต้น
จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาในกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่อื่น ๆ อีกสักระยะ
โดยจะพิจารณาออกเป็นร่างประกาศฯอีกฉบับ แยกจากร่างประกาศฯ
กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก
ทั้งนี้ เมื่อร่างประกาศฯนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการช่องทีวีดาวเทียม สามารถมาขึ้นทะเบียนกับ กทช.
เพื่อมีฐานะเป็น “ช่องรายการ” ในการออกอากาศและเผยแพร่ในเคเบิลทีวี
ซึ่งทุกช่องรายการที่ออกอากาศในเคเบิลทีวี จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับ กทช.
หากช่องรายการใดไม่ขึ้นทะเบียน
เคเบิลทีวีก็ไม่สามารถนำช่องรายการดังกล่าวมาบรรจุอยู่ในผังรายการได้
ส่วนช่องรายการต่างประเทศ ที่ออกอากาศแบบ Free to air
และผู้ประกอบการเคเบิล ต้องการนำมาเผยแพร่ จะต้องเป็นผู้ขึ้นทะเบียนช่องดังกล่าว ซึ่งการขึ้นทะเบียนช่องรายการ
เพื่อเป็นความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหารายการที่ออกอากาศ
เพราะในร่างประกาศฯ จะมีเรื่องการกำกับดูแลและบทลงโทษ
นาย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานชมรมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ กทช.
ควรจะพิจารณาจัดทำร่างประกาศฯ
เพื่อให้ใบอนุญาตชั่วคราวกับช่องทีวีดาวเทียม
ดำเนินไปพร้อมกับการพิจารณาร่างประกาศฯ ใบอนุญาตเคเบิลทีวี
เนื่องจากกิจการเคเบิลทีวี ที่อยู่ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย และช่องทีวีดาวเทียม ในฐานะคอนเทนท์ โปรวายเดอร์
เป็นสองกิจการที่ต้องประกอบกิจการร่วมกัน
เพราะปัจจุบันเคเบิลทีวี ที่ให้บริการช่องรายการ 50 ช่อง
จะเป็นช่องรายการที่เคเบิลทีวีผลิตเองเพียง 1-2 ช่องเท่านั้น
ส่วนที่เหลือเป็นช่องรายการของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมทั้งสิ้น
จึงเห็นว่าคณะอนุกรรมการฯ ควรจะให้ใบอนุญาตทั้งสองกิจการพร้อมกัน
ทั้งนี้ ชมรมได้จัดทำร่างประกาศฯ
เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียม
นำเสนอต่อประธานคณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่
คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช. วานนี้ (22 พ.ค.) เพื่อให้คณะทำงานใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดทำร่างประกาศฯ ของกิจการทีวีดาวเทียมได้เร็วขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ