นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ มีมติให้เพิ่มกิจการอีก 6 กลุ่ม ที่จะได้รับการส่งเสริมภายใต้มาตรการพิเศษเร่งรัดการลงทุน
ประกอบด้วย กลุ่มกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ให้ครอบคลุมถึง การผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และชิ้นส่วนที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ การผลิตรถไฟหรือรถไฟฟ้าหรือชิ้นส่วน(เฉพาะระบบราง), กิจการผลิตท่อเหล็กหรือท่อไร้สนิม, กิจการผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค เป็นต้น
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เห็นชอบให้เพิ่มกิจการอาหารทางการแพทย์ และกิจการผลิตยางยานพาหนะ ทั้งนี้กิจการใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้มาตรการพิเศษ เพื่อเร่งรัดการลงทุน ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตกรุงเทพฯ
จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ทุกเขต และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุน ในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ ให้ขยายเวลาหลักเกณฑ์การให้ส่งเสริมการลงทุนของโครงการ ที่ตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ที่ได้รับส่งเสริมในเขต 2 รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และในจ.ระยอง โดยจะขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปี จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.57 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานบอร์ดบีโอไอ กล่าวถึงเรื่องการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ BCP (Business Continuity Plan) เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้นว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำแผนเฉพาะ เรื่องการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ หากสนามบินหรือท่าเรือไม่สามารถให้บริการได้ โดยให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษาในรายละเอียดต่อไป
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า บอร์ดบีโอไอ ยังเห็นชอบให้กำหนดหลักเกณฑ์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานลดลงหรือให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดปริมาณของเสีย น้ำเสีย หรืออากาศ
ทั้งนี้จะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริม ระยะเวลาการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีของโครงการเดิมต้องสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้องยื่นคำขอภายในปี 2552 และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2554
สำหรับโครงการที่ลงทุนเพิ่มตามเงื่อนไขดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของมูลค่าเงินลงทุน
ที่มา – กรุงเทพธุรกิจ