นสพ. ไทยรัฐ รายงานว่า วันที่ 26 ก.พ. 2552 เวลา 10.00 น. ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีที่อัยการ เป็นโจทก์ฟ้องนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อายุ 59 ปี อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายวิชัย จึงรักเกียรติ อายุ 58 ปี อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.สุจินดา แสงชมพู อายุ 57 ปี อดีตนิติกร 9 ชช. น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อายุ 49 ปี อดีตนิติกร 8 ว. และ น.ส.กุลฤดี แสงสายัณห์ อายุ 44 ปี อดีตนิติกร 7 ว. เป็นจำเลยที่ 1-5
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ร่วมกันละเว้น ไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีการโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท
ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 พ.ย.40 ทำให้รัฐได้รับความเสียหายจากการไม่ได้เก็บภาษีมูลค่า 270 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมด ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157 เมื่อเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่มีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษี ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร หรือเจ้าพนักงานผู้พิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีอากร แต่เป็นเพียงผู้พิจารณาข้อกฎหมายเท่านั้น
แม้ความเห็นของจำเลยจะไม่ตรงกับความเห็นของคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งความเห็นของ คตส. ก็เป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างเท่านั้น ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ
นายสุชาติ วันเสี่ยน คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. พยานโจทก์ เบิกความยอมรับว่า คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจไม่พบว่า จำเลยทั้งห้าได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยทุจริต และมิได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการให้สูงขึ้นผิดปกติ
ประกอบกับวันที่คุณหญิงพจมานให้หุ้น แก่นายบรรณพจน์นั้นเป็นวันเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า ในเวลาต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่ข้าราชการกรมสรรพากร จะช่วยเหลือนายบรรณพจน์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล ปรากฏว่า มีคำสั่งกระทรวงการคลังให้ไล่จำเลยทั้งหมด ออกจากราชการ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกจากราชการต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลย มีลักษณะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมาย ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่า เป็นการดำเนินการ เพื่อเอื้อประโยชน์ ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งแต่ประการใด
จากพยานหลักฐานยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด แต่เนื่องจาก ก.พ. ต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีคำสั่งลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ แต่สำหรับศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ให้เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย บังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ดังนั้น ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจ วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงที่ปรากฏในสำนวน โดยไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล จำเลยทั้งหมดจะมีความผิดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานต่างๆที่ปรากฏ
และจากพยานหลักฐานต่างๆของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ามีเจตนาทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลับได้ความว่า จำเลยใช้ความรู้ความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มความสามารถตามหน้าที่ โดยไม่มีเจตนาทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังได้ พิพากษายกฟ้อง
นสพ.มติชน รายงานว่า นายชีพ จุลมนต์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีความเห็นต่างจากองค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มีคำพิพากษายกฟ้องในส่วนของนายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากรและนายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีต ผอ.สำนักงานกฎหมาย กรมสรรพากร จำเลยที่ 1 และที่ 2 และได้ทำบันทึกความเห็นแย้งกับคำพิพากษาขององค์คณะเจ้าของสำนวน แนบท้ายคำพิพากษา ดังนี้
ได้ทำการตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว มีความเห็นต่างจากความเห็นองค์คณะผู้พิพากษา ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 157 เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เห็นว่า
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (1) คำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น จากบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า บุคคลใดก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว
การจะรับฟังว่าบุคคลนั้น มีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้น เพียงมีข้อเท็จจริงรับฟังว่า ผู้นั้นได้กระทำหรือละเว้นการกระทำการหนึ่งการใดในหน้าที่ เพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น โดยที่ตนเองไม่จำต้องได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ บุคคลนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว
กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นโดยเจ้าพนักงานของรัฐ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่แล้วสมประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีใดบ้าง
เห็นว่า หากเป็นการเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใดๆ ภายใต้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จนเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมิได้เจตนา เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แม้ว่าการใช้ดุลพินิจดังกล่าว จะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้รับประโยชน์ก็ตาม ก็ย่อมไม่เป็นความผิด
ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเจตนาภายใน แนวการวินิจฉัยและการชั่งน้ำหนัก ต้องอาศัยความรู้สึกของวิญญูชน ความสมเหตุสมผล ตลอดจนพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามาประกอบการพิจารณา
คดีนี้ข้อเท็จจริงในส่วนที่รับฟังกันได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาราชการแทนอธิบดี จำเลยที่ 2 เป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ได้มีความเห็นว่า การที่นายบรรณพจน์ (ดามาพงศ์) รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) มูลค่า 738 ล้านบาท ผู้รับโอนไม่ต้องเสียภาษีประมาณ 270 ล้านบาท
จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า การเสนอความเห็นดังกล่าว เป็นการเสนอความเห็นโดยสุจริต ภายใต้พื้นฐานของหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล ในเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และมีพฤติการณ์ใด บ่งบอกไปในทางไม่สุจริตหรือไม่
จากการตรวจสำนวนอย่างละเอียดพบว่า มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในพฤติการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2 ประการแรก ว่าเงินภาษีจำนวน 270 ล้านบาท ที่จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้ยุติเรื่อง โดยจำเลยที่ 1 ขณะนั้นเป็นรองอธิบดี รักษาการแทนอธิบดี และจำเลยที่ 2 เป็น ผอ.สำนักกฎหมาย
ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่ง หรือเสนอความเห็นอย่างละเอียดรอบคอบ ยิ่งกว่าข้าราชการระดับปฏิบัติงาน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เพียงแค่รับฟังความเห็นจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นข้าราชการระดับปฏิบัติงาน และมีความเห็นไม่ตรงกับนายชาญยุทธ ปทุมรักษ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลปัญหานี้โดยตรง
จำเลยที่ 1 กลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อสังเกตของนายชาญยุทธ ที่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ทบทวนเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะ ผอ.สำนักกฎหมาย ควรจะต้องใช้วิจารณญาณให้ความสำคัญกับข้อสังเกตดังกล่าวด้วย แต่มิได้กระทำ
ประการที่สอง ภายหลังที่นายชาญยุทธ มีความเห็นแตกต่าง ปรากฏว่า นายชาญยุทธ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประเด็นดังกล่าว และมีความอาวุโสสูงกว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่ง ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แล้วมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มาปฏิบัติหน้าที่แทนนายชาญยุทธ และภายหลังมาปฏิบัติหน้าที่แทนไม่กี่วัน ก็ได้ออกคำสั่งในประเด็นปัญหาดังกล่าว ในฐานะรองอธิบดีรักษาราชการแทน
โดยให้ยุติเรื่องซึ่งเป็นคำสั่งในเชิงบริหาร และเป็นคำสั่งที่เป็นคุณกับนายบรรณพจน์ และหลังจากนั้น อีกเพียงไม่กี่วัน จำเลยที่ 1 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดี ในขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิบดี จึงเห็นว่าคำสั่งทั้งที่ให้นายชาญยุทธ เป็นผู้ตรวจราชการ คำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดี และคำสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดี ล้วนแต่เป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ประการที่สาม ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และกรณีก็ไม่ได้เร่งด่วน อีกทั้งมูลค่าทางภาษีที่เป็นปัญหาสูงถึง 270 ล้านบาท ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขณะนั้น ก็เป็นเพียงผู้รักษาราชการแทนอธิบดี ความเห็นหรือคำสั่งใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ย่อมเปรียบเสมือนคำสั่งของอธิบดี
ซึ่งการทำงานในฐานะรักษาราชการแทน โดยธรรมเนียมประเพณีผู้ทำหน้าที่นั้น จะไม่พึงเสนอความเห็นหรือออกคำสั่งใด ๆ ที่เป็นเชิงนโยบาย หรือเรื่องที่มีความสำคัญ จะพิจารณาเสนอความเห็น ออกคำสั่งในเฉพาะเรื่องเร่งด่วน หรือดำเนินการเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น
การที่จำเลยที่ 1 สั่งเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า โดยธรรมชาติแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นคนทำงานเร็ว ใครเสนองานมา ต้องรีบสั่งให้เสร็จในวันนั้น และเหตุที่ไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการภาษีพิจารณา เพราะว่าขณะนั้นไม่มีคนทำหน้าที่ในคณะกรรมการภาษี จึงเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล และเป็นเรื่องที่วิญญูชนจะไม่พึงกระทำ
เพราะการสั่งงานเร็วโดยธรรมชาติแล้ว งานนั้นต้องอยู่ในภาวะปกติ ไม่ใช่งานที่มีลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ การสั่งในฐานะรักษาราชการแทน และกรณีเรื่องของคณะกรรมการภาษี หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะส่งเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ก็ชอบที่จะให้มีการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้กระทำ
เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุเป็น ผอ.สำนักกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง มีลักษณะงานเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงโดยตรง ก็ให้เหตุผล ต่อกรณีที่ไม่เสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการภาษี
ทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ให้เหตุผลสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการสั่งงานอย่างรวดเร็วว่าถ้าในวันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่เป็นผู้สั่งเอง จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังจะเลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดี ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาสั่ง
จึงเห็นว่าคำสั่งใดๆ ก็ตาม ใครจะเป็นผู้สั่ง สั่งเมื่อใด ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้สั่งมีอำนาจหรือไม่ เนื้อหาคำสั่งสมเหตุสมผล หรือมีเจตนาพิเศษ มุ่งเน้นการเอื้อประโยชน์ให้คณะบุคคลใดโดยมิชอบหรือไม่ ช่วงเวลาที่สั่งมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแนวประเพณีปฏิบัติของทางราชการ หรือไม่ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในเรื่องนี้ จึงปราศจากเหตุผล ไม่มีน้ำหนักที่จะนำมารับฟังได้
เมื่อนำเหตุผลทั้ง 3 ประการมารวมกันแล้วเห็นว่า พฤติกรรมการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ย่อมชี้ให้เห็นถึง เจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้ง 2 ทำให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างมีเจตนาที่จะช่วยเหลือ หรือเอื้อประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ให้กับนายบรรณพจน์ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน 270 ล้านบาท
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
บันทึกความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีที่จะประกอบไว้ในคำพิพากษา เพื่ออ้างอิงใช้ประโยชน์ในชั้นศาลสูงต่อไป