รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ประเดิมฟ้องสายการบินนกแอร์ เป็นคดีผู้บริโภค ตาม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ตรวจอาวุธผู้โดยสาร
โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ดร.เจิมศักดิ์ ได้เดินทางโดยสารกับสายการบินนกแอร์ เส้นทางบินจากนครศรีธรรมราช ปลายทางกรุงเทพฯ เวลา 17.05 น. ปรากฎว่าที่สนามบินซึ่งเป็นของกรมการขนส่งทางอากาศ ได้มีการตรวจค้นสัมภาระ ตรวจระเบิดและโลหะหนัก ซึ่งเป็นการทำงานที่ถูกต้อง แต่ขณะที่กำลังเดินทางเข้าช่องผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่ของสายการบินนกแอร์ ไม่มีการตรวจค้นตัวผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน ว่ามีอาวุธหรือไม่ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ไปถามเจ้าหน้าที่ จึงได้รับคำตอบว่า เครื่องตรวจอาวุธถูกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขอยืมไป ถามเจ้าหน้าที่ว่าอุปกรณ์อื่นที่ใช้ตรวจไม่มีหรือ เจ้าหน้าที่คนเดิมตอบว่า ถูกขอยืมไปเหมือนกัน
ดร. เจิมศักดิ์ กล่าวว่า “ผมเลยบอกว่า แบบนี้เกิดความเสี่ยงสูงกับชีวิตของพวกผม พนักงานตอบว่าวันนี้อาจารย์ต้องเสี่ยงหน่อยนะคะ ผมก็รู้สึกไม่ค่อยดี และไม่สบายใจเลย ผู้โดยสารเต็มลำ 150 คนถ้ามีใครนำระเบิดมาซุกกับผู้โดยสารสักคน ก็ตายกันหมด ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าเป็นการละเว้นและไม่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ จึงมาร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลลงโทษ ครั้งต่อไปจะได้ช่วยกันดูแล อีกอย่างค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ควรจะได้รับการชดใช้เพราะเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย ผมคิดว่าศาลจะช่วยผู้บริโภคได้เพราะว่า โดยปกติผู้บริโภคฟ้องได้ตามคดีแพ่งอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคต้องมีทนายและต้องพิสูจน์ ทำให้เกิดความยุ่งยาก แต่คดีผู้บริโภคไม่ต้อง ถือว่าเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้ามากๆ และเป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค น่าจะเกิดประโยชน์อย่างมาก”
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ศาล ในคดีผู้บริโภคนั้น เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจในการทำงาน แต่ยังขาดความพร้อม เพราะหลายเรื่องเจ้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับงานและไม่คุ้นเคยต่อกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเจ้าหน้าที่จะพร้อมในที่สุด
วิธีพิจารณาคคดีผู้บริโภค เป็นระบบวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งของศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ ประชาชนในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ได้รับความเสียหายจากสินค้าอันตรายต่างๆ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อแผนกคดีผู้บริโภคที่มีประจำอยู่ในศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลแพ่งทุกแห่ง โดยระบบวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะเอื้อต่อการใช้สิทธิของผู้บริโภค เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว เที่ยงธรรมและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อคุณภาพสินค้าและบริการให้มากยิ่งขึ้น
ผู้ยื่นฟ้องสามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ฟ้องด้วยตนเองหรือแต่งทนายความ หรือขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม และประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่เป็นอันตราย ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเช่นกัน ซึ่งทั้งสองกรณีต้องไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายเกินควร ไม่เช่นนั้นศาลอาจมีคำสั่งให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในภายหลังได้ ที่สำคัญการที่ผู้บริโภคไม่มีความรู้ ขาดข้อมูลในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ดังนั้น ในคดีผู้บริโภคจึงกำหนดให้ภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการต่อสู้คดีให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ลักษณะพิเศษและข้อสังเกตที่สำคัญ
คำแนะนำวิธีปฏิบัติในวันนัดพิจารณาคดีผู้บริโภค
รายงานผลการเปิดเวทีสภาผู้บริโภค ให้ความรู้ พ.ร.บ.คดีผู้บริโภค
ที่มา – มูลนิธิผู้บริโภค