ครีเอทีฟ คอมมอนส์ (Creative Commons: CC.) เป็นสัญญาอนุญาตให้ผู้อื่นเอาผลงานของผู้เขียน ผู้ประพันธ์ หรือ ผู้สร้าง ไปใช้งาน หรือในการเผยแพร่ผลงานต่อ มีรูปแบบแนวคิดเหมือนกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ที่มีหลากหลายประเภท ผู้เป็นเจ้าของผลงานสามารถเลือกได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้คนเอาผลงานของตัวเราไปใช้แบบไหน
โดยสัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนส์มีเงื่อนไขหลัก 4 ข้อ ผู้สร้างงานสามารถเลือกใช้ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกันก็ได้ ได้แก่ "ยอมรับสิทธิของผู้สร้าง" (Attribution) "ไม่ใช้เพื่อการค้า" (Noncommercial) "ไม่แก้ไขต้นฉบับ" (No Derivative Works) และ "ใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน" (Share Alike)
ทั้งนี้ ในเมืองไทยมีคนกลุ่มหนุ่งที่กำลังเดินหน้าผลักดันการใช้สัญญาอนุญาต แบบยอมรับสิทธิ์ของผู้สร้าง และไม่ใช้เพื่อการค้า ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน IT Digest จึงถือโอกาสไปทำความรู้จักกับ ครีเอทีฟคอมมอนส์ ประเทศไทยให้มากขึ้น
นางภูมิจิตร ศิระวงศ์ประเสริฐ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และผู้คร่ำหวอดในสังคมอินเทอร์เน็ตระดับนานาชาติ อธิบายถึง Creative commons ว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นนักคิด นักวิชาการ และศิลปินจำนวนไม่น้อยมองว่า การอัพโหลดผลงานโพสตามเว็บไซต์ เว็บบล็อก หรือกระดานสนทนาต่างๆ ที่มักจะเป็นบทความ งานเขียน รูปภาพ และคลิปวิดีโอ เป็นกิจกรรมสนุกๆ งานอดิเรก หรือเอามาเผยแพร่เพื่อเป็นการบริจาค หรือเพื่อเป็นวิทยาทาน แต่ก็มีบางผลงานที่เจ้าของผลงาน ค่อนข้างจริงจังไม่ต้องการให้ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ คัดลอก หรือตัดต่อ โดยคอนเทนท์เหล่านี้จะมีรูปแบบของการคุ้มครองสิทธิ์ตามสัญญา CC ที่แตกต่างกันตามที่เจ้าของกำหนดไว้
อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย (ซีซีประเทศไทย) ว่า มีจุดเริ่มต้นจากบรรดา Geek ด้านไอทีที่มองว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ของ CC ยังมีความหลากหลายและมีความน่าสนใจ จึงได้ติดต่อขอข้อมูลกับทาง CC ในต่างประเทศ เพื่อขอเอกสารมาแปล โดยมีสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ มาร่วมเป็นคณะทำงาน CC เพื่อแปลงสัญอนุญาตมาเป็นภาษาไทย 6 ฉบับแล้วทำประชาพิจารณ์ CCจึงเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างผู้สร้างผลงาน กับผู้ที่นำผลงานไปใช้ที่ไม่ได้หวังผลทางการค้า ดังนั้น CC จะทำให้คนไทยได้รู้จักกฎ กติกาสังคมอินเทอร์เน็ต และเมื่อเราอยู่บนสังคมอินเทอร์เน็ต ก็จำเป็นที่ต้องปรับตัวรู้จักที่จะเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
ด้าน นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนทีมงานซีซีประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าว่า หลังจากที่ประกาศใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟ คอมมอนส์ สำหรับประเทศไทย อย่างเป็นทางการแล้ว ทางซีซีไทย ก็คงจะมีกิจกรรมเปิดตัวอีกครั้ง กับเว็บไซต์พันธมิตรที่จะนำสัญญาอนุญาตนี้ไปใช้ เช่น เว็บไซต์ www.fuse.in.th ที่นิตยสารไบโอสโคป ร่วมกับทีอาร์เอ็นจัดทำเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนงานสร้างสรรค์ เว็บไซต์ www.blognone.com และ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ส่วนเรื่องของวิกิพีเดียนั้น ขณะนี้ มูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) ได้ตกลงรับข้อเสนอของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation) ที่จะอนุญาตให้วิกิพีเดีย และวิกิประเภทเดียวกันอื่นๆ เปลี่ยนสัญญาอนุญาตเป็น ครีเอทีฟคอมมอนส์ประเภท by-sa ได้ ทั้งนี้ วิกิพีเดียจะเปิดให้ชุมชนตัดสินใจ ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่
ตัวแทนทีมงานซีซีประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ เว็บไซต์วิกิพีเดียใช้สัญญาอนุญาต GNU Free Documentation License ของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี ในกรณีที่วิกิพีเดียเปลี่ยนมาใช้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ จะมีผลกระทบในทางที่ดีมาก กับโลกครีเอทีฟคอมมอนส์ เพราะนั่นหมายถึง สื่อมัลติมีเดียที่เป็นซีซีจำนวนมากในปัจจุบัน จะสามารถนำไปผสมผสาน ตัดต่อเข้ากับข้อมูลความรู้จำนวนมากในวิกิพีเดีย อีกทั้งทำให้เพิ่มหนทางในการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ เพิ่มเป็นทวีคูณ สำหรับเรื่องการศึกษานั้น หลายคนก็หวังอยากให้กระแสซีซีแรงพอ ที่จะช่วยจะดันโครงการอื่นๆ อาทิ OER Commons http://www.oercommons.org หรือ Scientific Commons http://www.scientificcommons.org ให้เกิดขึ้นในบ้านเราได้บ้าง
ส่วน นายพิชัย พืชมงคล ทีมงานด้านกฎหมาย ซีซีประเทศไทย สำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ให้ความเห็นว่า ในส่วนของความคืบหน้าทางกฎหมายล่าสุด หลังจากที่ทางทีมกฎหมายนำเอา Core License มาแปลงเป็นสัญญาอนุญาติ 6 ฉบับที่สอดคล้องกับกฎหมายไทย เวลานี้ใกล้เสร็จแล้ว เพราะทาง CC International ได้ยอมรับในร่างแรกของประเทศไทย ขณะนี้ อยู่ระหว่างรวบรวมผลประชาพิจารณ์ หลังจากนั้น คณะทำงานจะปรับแต่งเพิ่มเติม แก้ไขในส่วนที่มีการแสดงความเห็น ก่อนแปลทั้ง 6 ฉบับเป็นภาษาอังกฤษกลับไปยัง CC International อีกครั้ง คาดว่าปี 2551 จะสามารถประกาศใช้ CC ในเมืองไทยแบบเป็นทางการได้
ทีมงานด้านกฎหมาย ซีซีประเทศไทย อธิบายต่อว่า สัญญาอนุญาต Creative Commons แปลงมาจากกฎหมาย Commons Laws ของสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ต่างจากประมวลกฎหมายของไทย จึงมีการปรับแต่งมากพอสมควร เพราะหลายส่วนมีความต่างกัน โดยที่ผ่านมา สังคมเรายังอ่อนในเรื่องการเคารพสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา จนต่างประเทศต้องกฎดันให้เมืองไทยออกกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นมา แต่ก็ยอมรับว่าแม้มีกฎหมายก็จัดการการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ไม่หมด และเมืองไทยไม่มีแนวคิดนี้เลย
นายพิชัย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่คิดว่าสังคมไทยจะได้จาก CC คือ สังคมไทยจะตระหนักถึงเรื่องสิทธิ์ในการใช้งานมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเปิดอินเทอร์เน็ตมาแล้วจะคัดลอกงานคนอื่น หรือหันมาสนใจที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าลิขสิทธิ์ในเมืองไทยอาจจะไม่มีมากนัก แต่จะไปตอบโจทย์ที่ทำให้งานที่สร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ตไหลไปในสังคมออนไลน์แบบเสรี เท่ากับว่าในอนาคตเด็กนักเรียน และเยาวชนไทย จะมีโอกาสเข้าถึงคอนเทนท์ดีๆ ได้มากขึ้น เรื่องนี้กลุ่มทีอาร์เอ็นที่เป็นหนึ่งในคณะทำงาน CC ประเทศไทย ก็เสนอให้มีการตั้งคลังฐานความรู้ คอนเทนท์ที่ใช้สัญญาอนุญาต CC ที่ให้เอาไปเผยแพร่ต่อโดยไม่หวังผลทางการค้า และสามารถดัดแปลงแก้ไขได้
ทีมงานด้านกฎหมาย ซีซีประเทศไทย อธิบายอีกว่า เมื่อมี CC ในเมืองไทยเราสามารถให้ผู้เขียน หรือผู้แต่งหนังสือแบบเรียนใช้สัญญาอนุญาตแบบ CC แล้ว กระทรวงศึกษาก็จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ผู้แต่ง แค่นี้ก็แก้ปัญหาแบบเรียนไม่พอได้ เพราะสามารถพิมพ์เพิ่มได้ตลอด หรือแก้ไขอัพเดทเนื้อหาให้ทันกับโลกปัจจุบันได้ตลอดเวลา กลายเป็นองค์ความรู้ที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมเสรี เฉกเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์การเรียนรู้ของมนุษยชาติ
"จากนี้ไป CC เป็นเหมือนการทะลวงจุดตีบตันทางความรู้ จากเมื่อก่อนที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น แบบเรียน หนังสือดีๆ หากผู้เขียนใช้สิทธิ์แบบ CC ก็จะมีคนนำเอาไปต่อยอด เขียนเพิ่มเติม หรือหากเป็นภาษาต่างประเทศก็จะมีการแปล เพื่อแจกจ่ายมากขึ้น นอกจากงานเขียนแล้ว ผลงานด้านภาพถ่าย ดนตรี วิดีโอ แอนิเมชัน งานด้านกราฟฟิค ดีไซน์ ก็จะเข้าถึงเยาวชน พวกเขาสามารถเอาไปใช้เป็นตัวอย่าง ดัดแปลงแก้ไข สร้างงานใหม่ขึ้นมาอีก โดยความรู้ของเด็กไทยก็ไม่ติดกรอบความรู้ที่มหาวิทยาลัยจัดให้" นายพิชัย กล่าว
ทีมงานด้านกฎหมาย ซีซีประเทศไทย กล่าวด้วยว่า หากสังคมไทยหันมารณรงค์ให้ผู้คนรู้จักที่จะเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมถึงมีการให้ทางเลือกกับการใช้สิทธิ์การใช้งานแบบเสรี เช่น CC. ก็จะทำให้คนไทยเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นมากขึ้น เป็นการพัฒนาสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะแม้แต่เว็บไซต์ระดับโลก วิกิพิเดีย ยังจะหันมาใช้สัญญาอนุญาต CC BY sa อีกทั้ง ยังส่งเสริมความสามารถในการสร้างงานทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นตัวชีวัดการพัฒนาของประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้นำงานต่างๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับ สินค้า และผลิตภัณฑ์งานฝีมือ หรืองานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้
"ครีเอทีฟคอมมอนส์" นับว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน และจะเป็นตัวพลิกโฉมของสังคมองค์ความรู้ออนไลน์ ทำให้อินเทอร์เน็ตความรู้เพิ่มมากขึ้น ไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา โดยที่ข้อมูลเหล่านี้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้น สำหรับการพัฒนาผลงานที่สร้างขึ้น จากความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลได้ ในอนาคตเชื่อว่าวิกิพีเดียภาษาไทยก็จะมีผู้รู้ในสาขาต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติมความรู้ที่ขาดหายให้เต็ม
สำคัญเด็กไทยต้องรู้จักเคารพสิทธิ์ทางความคิด และผลงานของผู้อื่นๆ ไม่คัดลอก หรือนำผลงานผู้อื่นไปแอบอ้าง หรือดัดแปลงเป็นผลงานของตัวเอง โดยที่เจ้าของไม่อนุญาต ทั้งนี้เมื่อเราเคารพสิทธิ์ผู้อื่น เราก็ย่อมได้รับการยอมรับและได้รับความเคารพตอบแทนมานั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ