“มีชัย” ออกโรงหนุนแก้กฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้ชัดกิจการใดควรแปรรูป ไม่ใช่ให้ใครมากินแบ่งจากรัฐ แฉยับ 4 ปี ถลุง 5 แสนล้าน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเปิดการสัมมนา “กฎหมายที่ประชาชนคาใจ : พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542” ว่า จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะมีการแปรรูปหน่วยงานใด และคงไว้ซึ่งหน่วยงานใดในการให้บริการสาธารณะ
นายมีชัย กล่าวว่า สิ่งที่ยังไม่เคยพูดให้ชัดเจนในสังคมคือ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภค เช่น กิจการไฟฟ้า ประปา สมควรหรือไม่ที่จะคำนึงถึงรายรับหรือผลกำไรเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงแปรรูปเป็นบริษัทให้เอกชนเข้ามาลงทุนแล้วแบ่งกำไรจากรัฐ เพราะยังไม่เคยพูดกันว่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้วมีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร มีแต่เขียนไว้ว่า ถ้ารัฐบาลเห็นสมควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดก็ให้ดำเนินการได้
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำกิจกรรมเชิงการค้าธรรมดา หรือรัฐวิสาหกิจที่ทำกิจกรรมในเชิงสาธารณูปโภค ก็จะมาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน และไม่มีการคุ้มครอง ปัญหาจึงคาราคาซังและกลายเป็นปัญหาใหญ่โตของบ้านเมือง
“ตอนนี้ควรหาคำตอบให้ชัดเจนว่ารัฐวิสาหกิจใดควรจะแปรรูป และที่ใดเข้าข่ายเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา และถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ผมก็คิดว่าการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ น่าจะได้รับความสนใจและเสียงตอบรับที่ดี” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย ได้เคยท้วงติงแล้วว่า ถ้ากฎหมายออกมาจะทำให้เกิด วิสัญญี แต่สื่อมวลชนฟังผิดไปใช้คำว่ามิคสัญญี ที่ผมใช้วิสัญญีเพราะหมายความว่าจะทำให้สังคมสงบลงและเกิดความชาด้านได้ เพราะผลที่ทำให้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นบริษัทมหาชน ถ้าไม่มีกรอบที่ชัดเจนและคุ้มครองสังคมได้ในระดับหนึ่งอย่างเพียงพอ รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งก็อาจแปรรูปรัฐวิสาหกิจในรัฐวิสาหกิจที่ไม่ควรแปรรูป แล้วก่อผลกระทบต่อสังคม
นายโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาจากคนที่ละโมบที่อยากได้อนาคตของประเทศ เกิดปัญหาละเมิด จริยธรรมอย่างรุนแรง สร้างผลประโยชน์ทับซ้อน โดย 4 ปีที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้โกงประชาชนไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท
ด้าน นายพิชัย พืชมงคล สำนักกฎหมายธรรมนิติ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศมาก ควรจะยกเลิกหรือแก้ไขให้มีภาคสังคมเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการกำกับนโยบายทุน ซึ่งแม้จะมีการยกเลิกกฎหมายไปรัฐบาลก็ยังสามารถแปรรูปได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการปกติโดยการผ่านรัฐสภาอย่างโปร่งใส
“กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนผูกขาดทรัพยากรไทย เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่จะให้มีการโอนอำนาจของรัฐไปเป็นของเอกชน รวมถึงการโอนสาธารณสมบัติไปให้เอกชนด้วย ทั้งหมดนี้เป็นสมบัติของประชาชน ถ้าไม่แก้กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อประเทศมาก” นายพิชัย กล่าว
ที่มา : โพสต์ ทูเดย์