ผู้อ่านเคยประสบปัญหาหลังจากสมาชิกครอบครัวเสียชีวิต เช่น การไปเบิกถอนเงินหรือไปดำเนินการโอนที่ดินแล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลมาแสดงก่อนหรือไม่ แล้วคำสั่งศาลที่เจ้าหน้าที่พูดถึงนั้นคือคำสั่งอะไร คำสั่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการนั้น คือ “คำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก” นั่นเอง
ผู้จัดการมรดกคือใคร?
• บุคคลที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดทำบัญชี และแบ่งปทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกของผู้ตายในอัตราส่วนตามกฎหมาย
ใครมีสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดกบ้าง?
• ผู้ที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดก
• ผู้ที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
ใครไม่มีสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดกบ้าง?
• บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
• บุคคลวิกลจริต
• คนไร้ความสามารถ
• คนเสมือนไร้ความสามารถ
• บุคคลล้มละลาย
การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต้องยื่นที่ศาลใด?
• ศาลที่เจ้ามรดก (ผู้ตาย) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ค่าธรรมเนียมศาลกี่บาท?
• 200 บาท (ไม่รวมค่าส่งสำเนาคำร้อง / ส่งหมาย ไปให้ทายาทที่เกี่ยวข้อง)
ผู้ร้องกับผู้จัดการมรดกต้องเป็นคนเดียวกันหรือไม่?
• ไม่จำเป็น
อายุเกิน 60 ปีแล้วสามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่?
• สามารถเป็นได้หากไม่เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย
หลังยื่นคำร้อง จะได้รับคำสั่งศาลเมื่อไหร่?
• ประมาณ 2-4 เดือนกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของคดีภายในศาลแต่ละช่วงด้วย
หลังศาลมีคำสั่งแล้วสามารถจัดการมรดกทันทีเลยได้หรือไม่?
• ไม่ได้ ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดก่อน
จากการถาม-ตอบเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนหวังว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านจะพอเห็นภาพรวมเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอจัดการมรดก อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกในแต่ละกรณีนั้น อาจมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงพื้นหลังครอบครัวของผู้ตาย การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกจึงควรดำเนินการโดยทนายความ หรือสำหรับท่านที่ไม่มีทุนทรัพย์พอจะว่าจ้างทนายความ ผู้เขียนขอแนะนำให้ติดต่อสำนักงานอัยการเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติม : พินัยกรรม, หน้าที่ของผู้จัดการมรดก, การยื่นคัดค้านคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก, การจัดการหมายศาล
นางสาวสุพิชญา ปิยานนท์พงศ์ เรียบเรียง,นายวันวิสา ศิลาทอง ร่วมพิจารณาเนื้อหา