“แนวทางปฏิบัติของนายจ้างในการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 (COVID-19)”
ณัฏฐณิชา เกื้อจรูญ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
จากสถานการณ์โรคโควิด 19 (COVID-19) ซึ่งยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จำนวน ผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ในหลายประเทศยังคงพุ่งไม่หยุดอย่างต่อเนื่องและอาจจะยังไม่สามารถควบคุมได้ในขณะนี้ และยิ่งเกิดกรณีมีผู้แพร่เชื้อแบบ super spreader โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการคัดกรองด้วยแล้ว ย่อมทำให้การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำได้โดยยาก ส่งผลกระทบให้การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกถูกปรับเปลี่ยนไปในทันทีแต่ในขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่ยังคงต้องทำงาน พบปะผู้คน ผู้ประกอบการยังคงต้องดำเนินกิจการต่อไปภายใต้ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับโรคโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีความกังวลและได้มีการประกาศและ/หรือคำสั่งใช้มาตราในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้ลูกจ้างปฏิบัติตามแนวนโยบายของแต่ละสถานประกอบการแล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันโรคโควิด 19 (COVID-19) ได้ถูกกำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563) โดยในส่วนของสถานประกอบการกฎหมายได้กำหนดให้ปฏิบัติ ดังนี้
- ให้เจ้าของ หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่นั้นแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสังกัดกรมควบคุมโรคในราชการบริหารส่วนกลางหรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง นับแต่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจแจ้งภายใน 3 ชั่วโมงได้ ให้แจ้งต่อ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดังกล่าวทันทีที่สามารถทำได้
- การแจ้งสามารถดำเนินการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง คือ แจ้งโดยตรงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทางโทรศัพท์ ทางโทรสาร เป็นหนังสือ ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
- การแจ้งด้วยตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดของชื่อ ที่อยู่และสถานที่ทำงาน ของตน ความสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ ที่อยู่ปัจจุบันและอาการสำคัญของผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย
ดังนั้น ผู้ประกอบการและบุคลากรในสถานประกอบการจะต้องช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายดังกล่าว หากพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานประกอบการ เจ้าของ หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นเพื่อให้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายโดยเร็วต่อไป เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นเพราะอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายดังกล่าวที่อาจไม่สามารถป้องกันและควบคุมได้แล้ว อาจมีโทษอาญาต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทอีกด้วย
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
มาตรา 31 ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้บุคคลดังต่อไปนี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
(4) เจ้าของ หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่นั้น
หลักเกณฑ์ และวิธีการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
มาตรา 50 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น พ.ศ. 2560 ฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2563 ฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2680-9749
Email: nattanichark@dlo.co.th