การเลิกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี

“การเลิกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี”

ณัฏฐณิชา เกื้อจรูญ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

     ปัจจุบันโลกธุรกิจของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า อย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ผู้ประกอบการคงจะใช้วิธีการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการแบบเดิม ๆ อีกต่อไปไม่ได้ เพราะอาจไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในยุคดิจิตอลนี้ได้อย่างเข้าถึง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนำเอาเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานคน ส่งผลกระทบให้ คนใช้แรงงานหลากหลายอาชีพ หลายองค์กร หลายหน่วยงาน ต้องถูกเลิกจ้างและทยอยหายไป เราจะเห็นได้ อย่างชัดเจนจากธุรกิจด้านการบริการ สถาบันการเงิน ค้าส่ง-ค้าปลีก งานประเภทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นต้น ซึ่งการ เลิกจ้างเนื่องจากการนำเอาเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาทดแทนการใช้แรงงานของลูกจ้างนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ดังนี้

  • นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่ายหรือ การบริการ ต้องมีเหตุอันเนื่องมาจากการนำเอาเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ทำให้ต้อง ลดจำนวนลูกจ้างลง
  • นายจ้างต้องแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง
  • นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนดให้กับลูกจ้าง
  • กรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ให้กับลูกจ้างด้วย

     การเลิกจ้างตามบทกฎหมายนี้ นอกจากลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว หากลูกจ้างคนใดทำงานติดต่อกันเกิน 6 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามกฎหมายที่ลูกจ้างได้รับ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี แต่ค่าชดเชยดังกล่าวนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน

     ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างไม่ครบ 1 ปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

     มาตรา 121  ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง ห้ามมิให้ นำมาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

     ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม วรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยด้วย

     ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการ บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

     มาตรา 122  ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวันหรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

     เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ กรณีระยะเวลาทำงานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่า หนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ 0-2680-9749
Email: nattanichark@dlo.co.th