ข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งเป็นรากฐานของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย มีองค์ประกอบสำคัญคือ ” ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 “
คำว่า “ผู้อื่น” คือผู้ถูกหมิ่นประมาท ต้องระบุรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร แต่อย่าไปคิดว่า ถ้าไม่ระบุชื่อตรงๆ ก็จะรอดพ้นข้อหานี้
เพราะเป็นธรรมดาของผู้กระทำผิด ที่มักจะใช้คำอื่น ฉายา ชื่อเรียก ฯลฯ เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกฟ้อง
คำว่า ” ใส่ความ ” คือ เอาความไปใส่เขา ซึ่งอาจเท็จหรือจริงก็ได้ ไม่ใช่จริงไม่ผิด เท็จจึงผิด หลักศาลจึงว่า ” ยิ่งจริง ยิ่งผิด “
วิธีใส่ความคือ แสดงข้อความให้ปรากฎด้วยวิธีใดๆก็ได้ เช่น พูด เขียน วาด ใช้น้ำเสียง บอกใบ้ ทำกริยาท่าทาง ฯ ถือเป็นการใส่ความหมด
ความผิดฐานหมิ่นฯ ไม่จำเป็นต้องมีผลเสียหายเกิดขึ้นจริงจากการใส่ความ แค่ “ความที่ใส่” น่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ก็เป็นความผิด
ดูตัวบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 327 ตามภาพแนบกันครับ
คำว่า ” โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เป็นพฤติการณ์ประกอบ ไม่ใช่ผลการใส่ความ
แม้บุคคลที่ 3 หรือ ผู้ฟัง “ความที่ใส่” ไม่รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังผู้ถูกหมิ่นฯ แค่ความนั้น อาจจะหรือน่าจะ ทำให้ผู้ถูกหมิ่นฯ เสียชื่อ ก็เป็นความผิด
ความหมายของ “ความที่ใส่” ถือตามความเข้าใจของวิญญูชน คือ สามัญชนคนทั่วไป ไม่ใช่ถือตามความเข้าใจของผู้พูดหรือผู้ถูกหมิ่นฯ
ความจริง ศาลคือผู้วินิจฉัยว่า วิญญูชนเข้าใจ “ความที่ใส่” อย่างไร ดังนั้น ความเข้าใจของวิญญูชน ก็คือ ความเข้าใจของศาลที่ใช้ดุลพินิจทางตุลาการ นั่นเอง
ข้อความที่หมิ่นฯ ต้องระบุพฤติกรรมของผู้ถูกหมิ่นฯ โดยอ้างข้อเท็จหรือจริงที่แน่นอน ไม่ใช่ความเห็นเลื่อนลอยหรือเป็นไปไม่ได้ เช่น เป็นผีปอบ
เช่น หาว่า “เวลาผัวไม่อยู่ มีชู้ตั้งร้อยอันพันอัน” แปลได้ว่า มีพฤติกรรมเลวทรามในทางประเวณี กรณีเป็นไปได้ ผิดหมิ่นประมาท
หลักกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ถือว่า คนฟังต้องเชื่อคำใส่ความ เพียงกล่าวยืนยันข้อเท็จหรือจริงที่น่าจะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ก็เป็นการหมิ่นฯ แล้ว
การใส่ความซ้ำ ๆ ใส่อยู่ร่ำไป หรือทำให้ลือกันไปทั่ว เป็นการหมิ่นประมาทมากขึ้น อ้างว่า ลือมากจากที่อื่น ใช้เป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
เอาความหมิ่นฯไปเล่า หรือเผยแพร่ต่อ เช่น สื่อเอาข้อความหมิ่นฯ ตามข่าวมาลง ถือว่า ผู้เล่าหรือสื่อ เป็นผู้ใส่ความเอง เป็นการหมิ่นฯ ซ้ำ
ข้อหาหมื่นฯ ทางอาญา ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยเจตนาใส่ความผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร ถ้าเป็นการกล่าวต่อคนฟังตามหน้าที่ ก็ไม่ผิด
สื่อหรือ นสพ.ไม่มีสิทธิติชมผู้อื่นยิ่งไปกว่าสามัญชน ถ้าเขียนข่าวเกินจริง เช่น ผู้ต้องหาถูกจับ ลงข่าวว่า เขาเป็นฆาตกรฯ ก็หมิ่นฯ
สื่อหรือ นสพ.มีสิทธิติชมผู้อื่นด้วยความเป็นธรรม ซึ่งมีข้อยกเว้นว่า ไม่ผิด เหมือนสามัญชน แต่ต้องไม่มีเจตนาหมิ่นฯ
ถ้าข้าราชการถูกตั้งกรรมการสอบฯ สื่อหรือ นสพ. กลับลงข่าวเกินไปว่า เขาทุจริตโกงกิน ก็เป็นหมิ่นประมาท
การหมิ่นฯ โดยโฆษณาประกาศด้วยวิธีใด ๆ เช่น ในเว็บ หรือทวีตเตอร์ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เพิ่มโทษเป็น จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท
ดูตัวอย่าง พูดว่า “พระวัดนี้ทุศีล ขี้เมาหยำเปฯ ” แม้ไม่ระบุว่าพระองค์ไหน ถือว่า หมิ่นฯพระทุกรูปในวัด ฎีกาที่ 448/2489
พูดถึงหญิงทำงานที่ดินว่า “กระหรี่ที่ดิน” กระหรี่คือหญิงค้าประเวณี แม้ไม่ได้ว่าค้ากับใคร เป็นหมิ่นประมาท ฎีกาที่ 2371/2522
หมิ่นฯ เป็นความผิดอาญาใกล้ตัว ทำผิดง่าย เช่น ไปทวีต* ด่าคนว่าเป็น “กระหรี่” ต่อให้เขาเป็นจริง ก็ถือว่าหมิ่นฯ ด้วยการโฆษณาแล้ว
ก่อนรีทวิต** (RT) ข้อความใด ก็ควรพิจารณาให้ดีก่อน ถ้าทวิตนั้นเป็นหมิ่นฯ ก็ถือว่า ท่านหมิ่นฯด้วยการโฆษณาซ้ำ เหมือนกรณีสื่อ
แม้คนที่ไม่ใช้ชื่อ-สกุลจริง ก็อย่าคิดว่าจะรอดพ้นกฎหมายได้ง่าย ๆ เพราะตรวจเช็คได้ด้วยบันทึกข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ( logfile) ของระบบ กรณีอยู่ที่คุ้มตรวจหรือไม่
ถ้าผู้ถูกหมิ่นฯคือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โทษจำคุก 3-15 ปี
ตัวอย่าง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ บางคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกจับตัว ทั้งที่ไม่ใช่ชื่อ-สกุลจริง เพราะตำรวจติดตามได้จากบันทึกข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ( logfile) ของระบบ
ถูกด่ามา จึงโกรธและด่ากลับไปด้วยข้อความหมิ่นฯ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว ยังถือเป็นการหมิ่นฯ เพียงอาจอ้างเหตุบันดาลโทสะ ขอบรรเทาโทษ
ใครด่าใครก่อน จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในสายตาของกฎหมาย หลักคือ ใครเจตนาใส่ความ (หมิ่นฯ) ถ้าหมิ่นฯทั้งคู่ ก็ผิดทั้งคู่
ข้อยกเว้นความผิดหมิ่นฯ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และข้อยกเว้นโทษคือ มาตรา 330 ดูตัวบท ตามภาพแนบกันครับ
การหมิ่นฯเป็นความผิดยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ใน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้ทำผิด แล้วต้องฟ้องคดีใน 5 ปี
แม้ในโลกสื่อทางสังคม (Social Media) การใช้สิทธิเสรีภาพในการพูด แสดงความเห็น ติชม ก็ควรต้องคำนึงถึงกฎหมาย ซึ่งเป็นกติกาของสังคม ที่ช่วยให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบและมีสันติสุข แต่หากสิทธิเสรีภาพของใครถูกละเมิด ก็เป็นหน้าที่ของคนนั้น ในการปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของตนเอง
0000000000000000000000000000000000000000000000000
หมายเหตุ
1. บทความนี้เรียบเรียงและแก้ไขเล็กน้อยจากข้อความที่เขียนในบริการทวิตเตอร์ ( Twitter ) ซึ่งเป็นสื่อทางสังคมชนิดหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 เนื้อหาส่วนหนึ่งนำมาจากบันทึกช่วยจำ ของคุณ นราธิป เทพานนท์ นักกฎหมายอาวุโส สำนักกฎหมายธรรมนิติ
2. * ทวิต (tweet) หมายถึง ข้อความหรือการส่งข้อความ ที่สมาชิกบริการทวิตเตอร์ ส่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของ twitter.com ไปที่หน้าเว็บและผู้ติดตาม (follower ) ของตนเอง ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ทวิตเตอร์ ได้ที่ วิกิพีเดีย-สารานุกรมเสรี
3. ** รีทวิต (re-tweet) หมายถึง ข้อความหรือการส่งข้อความ ที่สมาชิกบริการทวิตเตอร์ได้รับมาจากคนที่ตนติดตาม และส่งต่อข้อความนั้น ทั้งหมดหรือบางส่วน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของ twitter.com ไปที่หน้าเว็บและผู้ติดตาม (follower ) ของตนเอง โดยอาจเพิ่มความเห็นหรือข้อมูลของตน หรือไม่ ก็ได้ ดูข้อมูลเกี่ยวกับการรีทวิต เพิ่มเติมได้ที่ บลอกของคุณกาฝาก