โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 คืออะไร ?

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ บัญญัติว่า

สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน
ในการอนุรักษ์บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์
จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง
ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง
ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ
หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้
เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบ
ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน
และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน


รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ
ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ
ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง

1

2. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 กระทรวงอุตสาหกรรม
ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง
โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน มีสาระสำคัญ 3 ประการ
คือ

(1).
ให้โรงงานตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง
กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ
หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำ EIA ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535
เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

(2). ก่อนพิจารณาคำขออนุญาตของโรงงานตามข้อ 1
ต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน
โดยวิธีการให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงาน EIA ออกตามมาตรา 46 และ
51 ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535

(3). ในการพิจารณาคำขออนุญาตโรงงานตามข้อ 1
ให้ผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535
พิจารณาเฉพาะโรงงานที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา 49
ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 แล้วเท่านั้น

โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน จึงต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) 5 ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน (Health Impact Assessment : HIA) 6  และยังต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียตามหลักเกณฑ์และวิธีการในประกาศฯ ด้วย
2

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ ๒๕๕๐ ประกาศใช้บังคับมาสองปีแล้ว  รัฐก็ยังไม่มีกฎหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน
รวมทั้งจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
จึงทำให้บรรดาองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะเอกชน มีอุปสรรคขัดข้อง ไม่อาจลงทุนตั้งหรือขยายโรงงานมาร่วม 2 ปีแล้ว

กฎหมายกลายเป็นอุปสรรค
ขัดขวางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการลงทุนของชาติ

ถึงบัดนี้ ยังไม่มีการจัดตั้งองค์การอิสระ
ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็น ต่อโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง ก่อนที่จะดำเนินโครงการต่อไปได้

บรรดาโครงการขออนุญาตตั้งโรงงานและขอส่งเสริมการลงทุนจำนวนมาก ที่เข้าลักษณะเป็นโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง แม้ว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ของโครงการ ผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่รายงานผลกระทบต่อสุขภาพ ยังไม่ผ่านและยังไม่มีความเห็นจากองค์กรอิสระ จึงต้องหยุดชะงัก ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้

เฉพาะโครงการที่รอการพิจารณาของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 23 โครงการ ก็มีมูลค่ารวมถึง 323,661 ล้านบาท

4. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงนามยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง
โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ที่ประกาศไปเมื่อวันที่
22 ก.ค.51 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.52 โดยกล่าวว่า เนื่องจาก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง

ได้บัญญัติให้การดำเนินการโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมิน ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน

แต่ปัจจุบันนี้ ยังมีปัญหาด้านความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ที่มีผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้เป็นเจ้าภาพหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนตาม มาตรา
67 วรรคสอง ภายใน 1 เดือน และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป3

5. เมื่อวันที่ 24 สค. 2552 นายโกศล
ใจรังษี
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงว่า ขณะนี้คณะทำงานกำหนดรายชื่อโครงการ หรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ได้สรุปรายชื่อ 8 กิจการ คือ

1) เหมืองใต้ดินที่ชั้นหินแตกหักง่าย

2) เหมืองตะกั่ว/แมงกานีส

3) โรงถลุงเหล็กด้วยการละลายเคมีในชั้นดิน
และกิจกรรมผลิตเหล็กขั้นต้น

4) โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นกลาง
ที่มีผลผลิตจากการใช้สารที่ก่อให้เกิดสารพิษในอากาศ 14 ชนิด
หรือมีสารพิษรุนแรงก่อให้เกิดการเสียชีวิต

5) นิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานเหล็กและปิโตรเคมีตั้งอยู่

6) โรงฝังกลบของเสียอันตราย โรงงานเตาเผาของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม

7) โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน และ

8) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ซึ่งจะเสนอให้นายชาญชัย
ชัยรุ่งเรือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเป็นประกาศใน วันที่
24 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ โครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายมาตรา 67
รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
รายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และได้รับความเห็นจากองค์กรอิสระ

ซึ่งเดิมคณะทำงานได้จัดทำร่างรายชื่อ 17 กิจการ
เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง
กรอ.มีมติเห็นชอบ 2 ประเด็น คือ

1) ให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจสามารถดำเนินการอนุมัติ
อนุญาตโครงการลงทุนต่าง ๆ ไปได้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

2) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจการ
และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รับทราบอีกครั้งในวันที่ 26 ส.ค. 2552

การพิจารณาจากร่างรายชื่อเดิม 17 กิจการนั้น มีเพียง 8
กิจการที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ส่วนอีก 9
กิจการ เป็นอำนาจการอนุมัติของหน่วยงานอื่น เช่น โครงการถมทะเล, สนามบิน,
ท่าเทียบเรือ เป็นอำนาจของกระทรวงคมนาคม, โครงการเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ
เป็นอำนาจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ซึ่งหากต้องการกำหนดให้เป็นโครงการที่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
ต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติเป็น ผู้ออกประกาศ
ในทางกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถออกประกาศนอกเหนือจากอำนาจได้
หรือแม้แต่ให้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่สามารถทำได้
เพราะการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะใช้บังคับเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ
ไม่สามารถบังคับภาคเอกชนได้ 4

6. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติว่า ในเวลาที่ยังไม่มีกฎหมายใหม่ออกมารองรับ รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 เพื่อไม่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหรือการประกอบอาชีพของประชาชน ต้องสะดุดลง หน่วยราชการจึงสามารถดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติหรืออนุญาตโครงการ ตามกรอบกฎหมายเดิมไปก่อนได้ 

แต่มติคณะกรรมการกฤษฎีกา มีฐานะเป็นเพียงความเห็นทางกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติให้ทำได้ แต่การฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น ผู้อนุมัติหรืออนุญาต อาจถูกฟ้องคดีหรือถูกดำเนินการได้ หน่วยราชการต่างๆ จึงกังวล ไม่กล้าดำเนินการใดๆ

ข้อควรพิจารณาต่อไป คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม มติของ กรอ.และมติของคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดว่า โครงการประเภทใดเป็น โครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้น สามารถใช้บังคับได้แค่ไหน เพียงใด

รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 มิได้บัญญัติความหมายของโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
ไว้ จึงต้องถือว่า โครงการใดก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

ก็จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการในการอนุญาตหรืออนุมัติโครงการ ตามมาตรา 67 ดังกล่าวข้างต้น

ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม มติ กรอ. และมติครม.จึงมีผลเพียงเป็นการกำหนดแนวทางและนโยบาย ในการพิจารณาอนุญาตหรืออนุมัติโครงการ ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โครงการตามที่ฝ่ายบริหารกำหนด จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
แต่อย่างใด 

กล่าวคือ โครงการใด แม้ไม่ใช่เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมติคณะรัฐมนตรี เช่น โครงการทำสนามกอล์ฟ หรือโครงการถมทะเลที่น้อยกว่า 500 ไร่ แต่ถ้าเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของ รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และหากหน่วยงานราชการใดไม่ดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 ก็อาจถูกประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบฟ้องร้องได้

7. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย ที่ ๓/๒๕๕๒ เรื่อง ศาลปกครองสูงสุดส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 59 หรือไม่ ว่า 7

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ให้ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้ มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมาใช้บังคับก่อน

ถ้าปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการ อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชน ย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น

จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็น ก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง

8. ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาล จึงควรต้องตระหนักว่า รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์แล้ว หน้าที่ของรัฐบาล จึงควรเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวกับ การจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และการจัดตั้งองค์กรอิสระตามมาตรา 67 เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อโครงการฯ

ส่วนการกำหนดว่าโครงการใด เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ของฝ่ายบริหาร นั้น มิได้เป็นการกำหนดที่มีผลเด็ดขาด ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งศาลปกครองว่า เห็นด้วยกับการประกาศกำหนดของฝ่ายบริหาร หรือไม่ เพียงใด

ถ้าไม่เห็นด้วย ประชาชนและชุมชน ก็อาจฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล
เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้  รวมทั้ง ใช้สิทธิขอให้ถอดถอนผู้อนุมัติหรืออนุญาตให้ออกจากตำแหน่งได้ ถ้าปรากฎมีพฤติกรรม ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ข้อมูลอ้างอิง 

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ ๒๕๕๐

2. รัฐธรรมนูญมาตรา 67 เดทล็อคของกระทรวงอุตสาหกรรม 

3. นสพ.สยามรัฐ

4. นสพ. ประชาชาติธุรกิจ 

5.การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  หมายถึง การใช้หลักวิชาการในการทำนายหรือคาดการณ์
ผลกระทบ ทั้งในทางบวกและทางลบ ของการดำเนินโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม
ในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ และทางเศรษฐกิจ สังคม
เพื่อจะได้หาทางป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทางลบ ที่อาจเกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
น้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพสูงสุด
และคุ้มค่าที่สุด

นอกจากนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารว่า สมควรดำเนินโครงการหรือไม่
การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม
ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ภายหลังดำเนินโครงการไปแล้วได้มาก และเป็นวิสัยทัศน์ของนักบริหารโครงการในยุคโลกาภิวัฒน์
ที่มุ่งเน้นการป้องกันปัญหามากกว่าการแก้ไข

ที่มา สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

6. Health Impact Assessment หรือ HIA เป็นกระบวนการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ แผนงาน หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น โดยประยุกต์องค์ความรู้ด้านการประเมินความเสี่ยง ระบาดวิทยา ผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเริ่มต้นดำเนินการใด ๆ

เพื่อเสนอแผนงานหรือปรับปรุงการดำเนินการ ให้มีการป้องกันผลทางลบและส่งเสริม สุขภาพ ที่ดีของมนุษย์ดังนั้นการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จึงเป็นการนำเอามิติสุขภาพที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนากิจกรรมใดๆ กิจกรรมหนึ่งเป็นตัวตั้งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากการเดิมที่เป็นอยู่ โดยพิจารณาจากคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ที่มา เว็บ kittinan

7. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๕๒