การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนมาเป็นบริษัทจำกัด

ปัจจุบัน กฎหมายได้เอื้ออำนวยความสะดวก รวดเร็วในการจัดตั้งธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการติดต่อธุรกิจการค้าให้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป

การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นบริษัทจำกัด โดยใช้ชื่อเดิมได้  ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข กฎหมายดังกล่าวโดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ลดขั้นตอนต่างๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการที่จะต้องมาจดทะเบียนใหม่ ซึ่งจากเดิมหากต้องการเปลี่ยนเป็นบริษัทจะต้องจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน สามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ และไม่สามารถใช้ชื่อเดิมของห้างฯ เพื่อการจัดตั้งบริษัทได้

การจดทะเบียนแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด ประกอบด้วย

1. ห้างหุ้นส่วนนั้น ต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่สามคนขึ้นไป

2. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ต้องร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงยินยอม ให้แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด

3. หุ้นส่วนผู้จัดการห้าง ต้องมีหนังสือแจ้งความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วน ให้นายทะเบียนทราบภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนให้ความยินยอม  โดยแนบสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอมให้แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดด้วย โดยห้างหุ้นส่วนที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ส่งหนังสือแจ้งความยินยอมที่สำนักบริการข้อมูลธุรกิจ หรือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง หรือสำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจแห่งใด แห่งหนึ่ง

สำหรับห้างหุ้นส่วนที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอื่น ให้ส่งหนังสือแจ้งความยินยอม ได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่ห้างหุ้นส่วนนั้น มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่

4. ห้างหุ้นส่วนต้องประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราว และมีหนังสือบอกกล่าว ไปยังเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนให้ทราบเรื่องที่ห้างหุ้นส่วน จะแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด

5. เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน หุ้นส่วนผู้จัดการต้องจัดให้มีการประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน เพื่อให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

5.1 จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท (ถ้ามี)

5.2  กำหนดทุนเรือนหุ้นของบริษัท ซึ่งต้องเท่ากับส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วน และกำหนดจำนวนหุ้นของบริษัทที่จะตกได้แก่หุ้นส่วนแต่ละคน

5.3 กำหนดจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วในแต่ละหุ้น (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25)

5.4 กำหนดจำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ รวมทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิของหุ้นซึ่งจะออกและจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน

5.5 แต่งตั้งกรรมการและกำหนดอำนาจของกรรมการ

5.6 แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

5.7 ดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในการแปรสภาพ

6. หุ้น ส่วนผู้จัดการเดิมต้องส่งมอบกิจการ ทรัพย์สิน บัญชี เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ของห้างหุ้นส่วน ให้แก่กรรมการบริษัทภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ให้ความยินยอมและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตาม 5. เสร็จสิ้นแล้ว

7. ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วน ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้น หรือชำระเงินค่าหุ้น ไม่ครบร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าหุ้น หรือยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการ คณะกรรมการบริษัทต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ชำระเงินค่าหุ้น โอนกรรมสิทธิ์ หรือทำเอกสารหลักฐานการใช้สิทธิต่าง ๆ แล้วแต่กรณี ให้แก่คณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

8. คณะกรรมการต้องยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด ต่อนายทะเบียน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ดำเนินการตาม (7) ครบถ้วนแล้ว
เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนเดิมหมดสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วน และห้างหุ้นส่วนที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด จะต้องไม่มีชื่อบริษัท วัตถุที่ประสงค์ทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นและส่วนลงหุ้นของแต่ละคน แตกต่างไปจากที่ห้างหุ้นส่วนได้จดทะเบียนไว้เดิม

ข้อมูลที่ต้องใช้ในการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด

1. ชื่อของบริษัท

2. ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ (ตั้งอยู่ ณ จังหวัดใด)

3. วัตถุที่ประสงค์ของบริษัทที่จะประกอบกิจการค้า

4. ข้อบังคับ (ถ้ามี)

5. จำนวนทุน (ค่าหุ้น) ที่เรียกชำระแล้ว อย่างน้อยร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน

6. ชื่อ ที่อยู่ อายุของกรรมการ

7. ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน

8. รายชื่อหรือจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท (อำนาจกรรมการ) *ดูตัวอย่างการกำหนดอำนาจกรรมการ*

9. ชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตพร้อมค่าตอบแทน

10. ตราสำคัญ 

ที่มา – เว็บสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม