• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความกฎหมาย
  • /
  • อย่างไร จึงเรียกว่า กรรมการหรือผู้จัดการ มิได้รู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ของนิติบุคคล ?

อย่างไร จึงเรียกว่า กรรมการหรือผู้จัดการ มิได้รู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ของนิติบุคคล ?

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์  รายงานว่า นายเอ็ดเวิร์ด เคลลี่ หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษากฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ที่กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ( บีเอสเอ )มอบหมายให้รับผิดชอบงานนี้ กล่าวว่า ผู้อำนวยการของบริษัท มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรของตัวเอง แม้จะไม่รู้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือได้สั่งให้ลูกจ้างใช้แต่ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ ก็ตาม

นายเคลลี่กล่าวว่า " ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทต่างๆ จะต้องมั่นใจว่า ได้ทำสิ่งที่ถูกต้องทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ เราขอแนะนำว่า ผู้บริหารบริษัท อย่าได้เสี่ยงเพราะผลที่ตามมานั้นรุนแรง ”

ปัจจุบัน การละเมิดลิขสิทธิ์และการก็อปปี้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ในประเทศไทย มีประมาณ 78%
แม้กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดไว้ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ซอฟต์แวร์เถื่อนก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม
แหล่งข่าวกฎหมายรายหนึ่ง กล่าวว่า สิ่งที่สำนักกฎหมายดังกล่าวระบุ
เป็นการขู่เกินจริง ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน หากกรรมการหรือผู้บริหารหน่วยงานพิสูจน์ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดของพนักงาน ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิด ยกเว้นแต่ผู้จัดการฝ่ายไอทีที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์โดยตรง

00000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ที่พบเห็นทั่วไป คือ การติดตั้งซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตลงฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์  การติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์  มากกว่าจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาต การทำสำเนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ และนำไปแจกจ่ายเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต การดาวโหลดซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์จากอินเตอร์เน็ตมาติดตั้งใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ ขององค์กรธุรกิจ  2 มาตรา คือ

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์  มาตรา ๖๙ บัญญัติว่า

" ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘
มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๕๒
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี
หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ "

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า

" ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้น ได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย "

การติดตั้งและใช้ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ โดยไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ เป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตามความในมาตรา 69 วรรคแรก

เนื่องจากองค์กรธุรกิจ โดยทั่วไปเป็นนิติบุคคล จึงต้องด้วยกรณีตามมาตรา 74 คือถือว่า นิติบุคคลกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งผล

" ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น
เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้น ได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย "

มาตรา 74 ดังกล่าว เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมาย หมายความว่า เมื่อพบว่านิติบุคคลใด กระทำความผิดข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ กฎหมายจะถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้นด้วยทันที

คำว่า เว้นแต่.. ในมตรา 74 ข้างต้น ในทางคดีคือ การกำหนดหน้าที่และภาระในการนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ต่อศาล ให้เป็นหน้าที่และภาระการพิสูจน์ของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคล แต่ละคนว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคล แต่ละคน รู้เห็นยินยอมให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ของนิติบุคคลนั้น หรือไม่ ใครสามารถสืบพิสูจน์จนศาลเชื่อว่า มิได้รู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำความผิด ก็ไม่ต้องรับผิด ใครพิสูจน์ไม่ได้ ก็อาจต้องรับผิดและโทษตามกฎหมาย

กรณีจึงมีข้อควรพิจารณาว่า อย่างไร จึงเรียกว่า กรรมการหรือผู้จัดการ มิได้รู้เห็นหรือยินยอมกับการกระทำความผิด ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของนิติบุคคล ?

เนื่องจากการทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ของนิติบุคคล เกิดขึ้นโดยง่าย เพื่อป้องกันตนเอง นิติบุคคล จึงควรกำหนดหลักปฏิบัติทั่วไปเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ ดังนี้

ข้อ 1. นิติบุคคลนั้น ได้ประกาศห้ามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ให้พนักงานทุกคนในองค์กร ทราบโดยทั่วกันแล้ว

ข้อ 2. นิติบุคคลนั้น ได้จัดซื้อและติดตั้งซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ ที่จำเป็นต่อการใช้งานตามสภาพธุรกิจของนิติบุคคลนั้น ในเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องและครบถ้วน รวมทั้ง ทำทะเบียนเก็บรักษาหนังสืออนุญาตให้ใช้งานต้นฉบับ(Software License ) เพื่อนำมาแสดง ในกรณีเกิดการตรวจค้นได้ทันที

ข้อ 3. หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านไอทีหรือคอมพิวเตอร์ ของนิติบุคคลนั้น ได้มีการสุ่มตรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องของนิติบุคคลนั้น เป็นระยะๆตามความเหมาะสม ทั้งหากพบว่า พนักงานได้ติดตั้งและใช้งานซอฟแวร์คอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์  ได้ทำการลบหรือถอดถอนการติดตั้งซอฟแวร์นั้นออกจนหมดสิ้น จากเครื่องคอมพิวเตอร์และนิติบุคคลนั้น ได้ดำเนินการตักเตือนหรือลงโทษพนักงานที่ทำผิดกฎหมาย ตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน อย่างเหมาะสม

เมื่อได้ดำเนินการ ดังกล่าวข้างต้นอย่างสม่ำเสมอแล้ว แม้ต่อมา พบว่า มีการทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้น ย่อมสามารถพิสูจน์ได้โดยง่ายว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม กับการทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ นั้นด้วย