คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีวาทกรรมตุลาการภิวัฒน์ขึ้น โดยวาทกรรมนี้ถูกเสนอขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งหมายจะให้ประชาชนเข้าใจว่า ตุลาการภิวัฒน์หมายถึง กรณีองค์กรตุลาการเข้ามาเเก้ไขปัญหาความขัดเเย้งทางการเมือง รวมถึงการขจัดปัญหาการทุจริตของนักการเมือง
ซึ่งเป็นการบิดเบือนความหมายที่เเท้จริงของ Judicialization หรือ Judicial Activism ในภาษาอังกฤษที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายถึง การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือการกระทำของรัฐบาล โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในทางตรงกันข้าม ตุลาการภิวัฒน์ในสังคมไทยถูกนำเสนอขึ้น เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจตุลาการในการใช้เเละตีความ “กฎหมาย” เพื่อ ตัดตอนอำนาจทางการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอำมาตยธิปไตย โดยเนื้อหาหรือข้อความที่ปรากฎในคำพิพากษา มีข้อความในเชิงว่ากล่าว ตำหนิ อบรมสั่งสอน ฯลฯ ไปด้วย ซึ่งผิดปกติวิสัยลักษณะของคำพิพากษา ที่มุ่งจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นข้อพิพาทเท่านั้น
ข้อเขียนนี้อธิบายลักษณะเเละหน้าที่ของคำพิพากษารวมถึงวิธีการตีความกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิจารณ์ตุลาการภิวัฒน์ในสังคมไทยต่อไป
ตามระบบกฎหมายของภาคพื้นยุโรป เช่น ประเทศฝรั่งเศส คำพิพากษาของศาลจะสั้น กระชับ ไม่ยืดยาว โดยคำพิพากษาจะประกอบด้วย “ข้อเท็จจริงของคดี” และ “หลักกฎหมาย” ที่ใช้ในการตัดสินคดีเท่านั้น คำพิพากษาจะละเว้นไม่กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมาย
ผู้พิพากษาชื่อว่า P.Mimin ได้ตำหนิผู้พิพากษาที่พยายามสอดแทรกข้อโต้แย้งทางนโยบาย (Policy argument) ความเห็นส่วนตัว (Personal views) หรือความไร้สาระ (nonsense) อื่นๆ ไว้ในคำพิพากษา[1] ทำนองเดียวกับศาลของออสเตรเลียที่เห็นว่าข้อโต้แย้งด้านนโยบาย ไม่ควรปรากฏในคำพิพากษา[2] พูดง่ายๆก็คือ ข้อโต้แย้งด้านนโยบายมิใช่เป็นเรื่องของศาล แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ
ในทางตรงกันข้าม หากกลับมาพิจารณาคำพิพากษาของศาลไทยในช่วงหลังรัฐประการ 19 กันยายน ที่ผ่านมาจะพบว่า เนื้อหาของคำพิพากษาบางตอน มิได้เกี่ยวข้องกับการอธิบายหลักกฎหมายหรือการตีความถ้อยคำทางกฎหมาย แต่มีความพยายามสอดแทรกทรรศนะคติ ความรู้สึกทางศีลธรรม ความควร ความไม่ควร ฯลฯ
การพยายามที่จะใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษา ให้ปรากฎในคำพิพากษาไม่ว่าแรงจูงใจจะดีเพียงใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มิใช่สาระสำคัญของคำพิพากษาแต่ประการใด คำพิพากษาที่ดีต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติ และหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจนและอธิบายได้
คำพิพากษาของศาล มิใช่เป็นช่องทางสำหรับการอบรมสั่งสอนจริยธรรมว่าอะไรควร อะไรไม่ควร หรือว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้หนึ่งผู้ใด หน้าที่ของผู้พิพากษาคือการตัดสินประเด็นข้อกฎหมาย (Legal issues) และการตัดสินของผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หาใช่อ้างอิงหลักศีลธรรมจรรยาไม่
ตัวอย่างของคำพิพากษาที่ปรากฏ “ถ้อยคำ” หรือ “ข้อความ” ซึ่งมิใช่สาระสำคัญของคดีแต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกทางศีลธรรมจรรยา หรือความเห็นส่วนตัว เช่น
1) คดียุบพรรคไทยรักไทย
ข้อความตอนหนึ่งปรากฎว่า “ ผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชาชน….. นอกจากนี้ยังแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง …. ผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้าดังที่ได้รณรงค์หาเสียงกับไว้ต่อประชาชน….”
2) คดีแถลงการณ์ร่วมกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ข้อความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการทำเเถลงการณ์ร่วม ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า
“…เป็นเรื่องที่ผู้ทำหนังสือสัญญาจะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว…” “.….การดำเนินการเเละพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ” เเละ “ ….ซึ่ง เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนเเละอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภาย หน้าได้” ..พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำเเถลงการณ์ร่วมไป ก็อาจก่อให้เกิดการเเตกเเยกกันทางด้านความคิดของคนในสังคมทั้งสองประเทศ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติเเก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศกัมพูชา”
3) คดีหลบเลี่ยงภาษีหุ้น
ข้อความตอนหนึ่งศาลกล่าวว่า “… จำเลย ที่ ๒ เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย….”
ก่อนอื่นต้องอธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า “การตีความ” (Interpretation) กับการแปลความ (Translation) ก่อนว่าไม่เหมือนกัน การตีความนั้นเป็นการหยั่งหาความหมายของถ้อยคำทางกฎหมายหรือบทบัญญัติ ว่ามีเจตนารมณ์หรือมีความหมายแคบกว้างเพียงใด ในขณะที่การแปลความ เป็นการแปลถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการค้นหาหรือหยั่งทราบเจตนารมณ์ของถ้อยคำหรือบทบัญญัตินั้นๆแต่อย่างใด
หลักการตีความถ้อยคำทางกฎหมาย (Legal terminology) นั้น ต้องคำนึงถึงหลักความเป็น “เอกภาพของระบบกฎหมาย” ด้วย ในประเด็นนี้ อาจารย์หยุด แสงอุทัยกล่าวว่า
“ กฎหมายต่างๆ ไม่สามารถบัญญัติข้อความที่ใช้ในกฎหมายนั้นได้ทั้งหมดสิ้น จำเป็นต้องอาศัยข้อความที่กฎหมายอื่นบัญญัติไว้บ้าง เป็นต้นว่า ถ้าเราจะเปิดดูพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดแห่งกฎหมาย เราจะเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติว่าคำว่า “ ภูมิลำเนา” มี ความหมายว่าอย่างไร โดยอาศัยหลักที่ว่า กฎหมายฉบับหนึ่งย่อมจะต้องอาศัยข้อความที่กฎหมายฉบับอื่นๆ บัญญัติไว้บ้าง หรืออีกนัยหนึ่ง โดยอาศัยหลักที่ว่า กฎหมายต่างๆ อาจเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เราจึงต้องถือว่า คำว่า “ ภูมิลำเนา” มี ความหมายเช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ ทั้งนี้ ถือว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องนี้” [3]
นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังต้องพิเคราะห์ถ้อยคำอีกด้วยว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็น “ถ้อยคำธรรมดา” หรือเป็น “ถ้อยคำตามกฎหมาย” ซึ่งถ้อยคำบางคำอาจมีความหมายได้ทั้งความหมายธรรมดาและความหมายทางกฎหมาย เช่น คำว่า “หนี้” หนึ้ ตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปหมายถึง หนี้เงิน แต่หนี้ ในความหมายของวิชานิติศาสตร์หมายถึง การกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดและส่งมอบทรัพย์[4]
กรณีศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การจัดรายการชิมไปบ่นไปของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช นั้นเข้าข่ายเป็น “ลูกจ้าง” แล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดพจนานุกรม[5] เพื่อหาความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำว่า "ลูกจ้าง" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมาย หรือการแปลตามความหมายทั่วไป
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ในความหมายของ "ลูกจ้าง" ว่า หมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หากได้มีการตกลงรับจ้างกันทำการงานการ แล้วย่อมมีความของคำว่า "ลูกจ้าง" ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ทั้งสิ้น
ในคดีชิมไปบ่นไปผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้
ประการแรก ประเด็นที่สำคัญของคดีนี้คือ การทำรายการของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มีลักษณะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ การจะวินิจฉัยว่า อดีตนายกมีสถานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ มิใช่เพียงแค่เปิดพจนานุกกรมเพื่อหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องพิเคราะห์ลักษณะหรือองค์ประกอบของสัญญาจ้างแรงงานด้วย
ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานนั้น มีหลายประการเช่น เป็นสัญญาเฉพาะตัว เป็นสัญญาต่างตอบแทน เป็นสัญญาไม่มีแบบ เป็นสัญญาที่นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ผมไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะวินิจฉัยว่า อดีตนายกเป็นลูกจ้างนั้นได้มีการวิเคราะห์ อธิบายแต่ละองค์ประกอบข้างต้นว่าลักษณะการทำงานของอดีตนายกนั้นเข้าองค์ประกอบแต่ละข้ออย่างละเอียดหรือไม่ เนื่องจากขณะเขียนบทความนี้ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เผยแพร่ ข่าวที่ปรากฏดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเพ่งเล็งไปที่เรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก แต่ค่าตอบแทนนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น
ประการที่สอง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยจ้างแรงงานมาตรา 575 จะไม่มีบทนิยามศัพท์หรือคำอธิบายว่า ลูกจ้างคืออะไรก็ตาม แต่กฎหมายแรงงานอย่างอื่น ก็มีบทนิยามศัพท์ในเรื่องลูกจ้างว่าคืออะไร เช่น
ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า ลูกจ้างหมายถึง “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หรือ ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน” พ.ศ. 2537 มาตรา 5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรแต่ไม่รวมถึง ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย” หรือพระราชบัญญัติแรงงาสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา5 บัญญัติว่า ลูกจ้าง หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง”
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาจากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งมีอยู่มากมายเกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานว่ามีอะไรบ้าง กล่าวโดยสรุปแล้ว การค้นหาความหมายของคำว่าลูกจ้าง ศาลรัฐธรรมนูญควรเทียบเคียงจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ มากกว่าดูจากพจนานุกรมอย่างเดียว
การที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า กฎหมายแต่ละฉบับมีเจตนารมณ์เป็นของตนเองแตกต่างกันไปแต่ละฉบับนั้น แม้จะรับฟังได้ก็ตาม แต่การค้นหาความหมายของลูกจ้างที่ปรากฏในกฎหมายแรงงาน ประกอบกับแนวคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งตำรากฎหมายแรงงานซึ่งมีผู้แต่งหลายท่าน เพื่อค้นหาหลักหรือสาระสำคัญของลูกจ้างหรือสัญญาจ้างเเรงงานว่ามีลักษณะ อย่างไร ย่อมดีกว่าเพียงแค่เปิดพจนานุกรมอย่างแน่นอน
ประการที่สาม ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญควรอธิบายหรือวิเคราะห์ ก็คือความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ว่ามีความหมายแคบกว้างเพียงใด โดยศึกษาเปรียบเทียบจากกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้มีบทนิยามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ไว้แล้วเพื่อประกอบเป็นแนว
ประการที่สี่ ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายแรงงานอื่นๆ มีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น จึงไม่อาจนำมาใช้ได้นั้น ข้อนี้มีน้ำหนักน้อย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์และกฎหมายแรงงานอื่นๆ ยังมีสถานะเป็นกฎหมาย แต่พจนานุกรมนั้น ไม่มีสถานะเป็น “กฎหมาย” ด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ ประเด็นนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นเรื่อง “ลำดับชั้น” หรือ “ลำดับศักดิ์” ของกฎหมาย (Hierarchy of laws) ลำดับชั้นหรือลำดับศักดิ์ของกฎหมาย หมายถึงกรณีที่กฎหมายลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาหรือข้อความขัดกับกฎหมายในลำดับสูงกว่าไม่ได้
แต่กรณีนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงานก็ดี กฎหมายแรงงานอื่นๆก็ดีหาได้มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับมาตรา 267 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญยกเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมาเป็นเหตุผลนั้น เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากกว่า
อีกทั้งอาจารย์หยุด แสงอุทัยยังได้ตั้งเป็นข้อสังเกตอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายฉบับหนึ่ง จะบัญญัติทุกสิ่งทุกอย่าง [6] ผมเห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่ให้คำนิยามหรือบทนิยามศัพท์ได้ทุกคำ ถ้อยคำกฎหมายใดที่กฎหมายนั้นๆ ไม่มีการให้คำนินามศัพท์เป็นการเฉพาะเจาะจงแล้ว ผู้ใช้กฎหมายพึงเทียบเคียงกับกฎหมายทั่วไปอย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ประมวลกฎหมายอาญาหรือค้นหาจากแนวคำพิพากษาของศาลในเรื่องนั้นๆประกอบการตัดสิน
จากคำอธิบายของอาจารย์หยุด แสงอุทัยข้างต้น ผมเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน โดยเทียบเคียงจากกฎหมายแรงงานอื่นๆ แนวคำพิพากษาของศาลและตำรากฎหมายแรงงาน เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแค่เรื่องลูกจ้างเท่านั้น การตีความโดยอาศัยพจนานุกรมนั้น ไม่เพียงพอที่อธิบายความหมายของลูกจ้างได้ เพราะคำว่าลูกจ้างนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องอธิบายองค์ประกอบอื่นของสัญญาจ้างแรงงานด้วย
หน้าที่ของคำพิพากษาคือการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นพิพาทกัน คำพิพากษาที่ดี จะต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ ไม่คลุมเครือ เเละหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ชัดเจน ปราศจากข้อความที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัว ถ้อยคำในเชิงอบรมหรือตำหนิติเตียน (ไม่ว่าผู้พิพากษาท่านั้นจะมีความตั้งใจดีเพียงใดก็ตาม) ภาษาที่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น ตลอดจนการตีความกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักวิชานิติศาสตร์ในระบบกฎหมายนั้นๆ
ที่สำคัญที่สุด คำพิพากษาที่ตัดสินออกมาเเล้ว จะให้ประชาชนยอมรับ (หรือมีการวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด) มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการให้เหตุผลทางกฎหมาย (Legal reasoning) เป็นสำคัญ คำพิพากษาที่ดีจึงมิใช่เป็นเรื่องของการมุ่งไปที่ “ผล” อย่างเดียว แล้วหาคำอธิบายมาประกอบเท่านั้น โดยหวังว่า “ผล” ของคำพิพากษาจะเเก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ เพราะว่าประชาชนสามารถเเยกเเยะได้ว่า “ผล” (Result) กับ “เหตุผล” (Reason) นั้นไม่เหมือนกัน
……..….
[1] Eva Steiner, French Legal Method,(New York: Oxford University Press,2002),p.150
[2] Gwen Morris, Laying Down the Law,(Sydney: Butteworths1992)p. 47
[3] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, (กทม: สำนักพิมพ์หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2527)หน้า 53
[4] ปรีดี เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป, (ก.ท.ม.:ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์, 2526), หน้า 66
[5] ในต่างประเทศ ผู้พิพากษาก็เปิดดูพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของศัพท์กฎหมายได้ แต่พจนานุกรมนี้มิใช่เป็นพจนานุกรมทั่วๆไปแต่เป็นพจนานุกรมทางกฎหมายโดย เฉพาะ เช่น ศาสตราจารย์ Glanville Williams แนะนำให้ใช้พจนานุกรมชื่อว่า Broom’s Legal Maxim หรือ A Dictionary of Modern Legal Usage เป็นต้น โปรดดู Glanville Williams, Learning the Law, (London: Sweet & Maxwell), หน้า 88-89 ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสก็มีการใช้พจนานุกรมทางกฎหมายของ Guillien and Vincent, Lexique de Terms Juridique และ Cornu, Vocabulaire Juridique, โปรดดู Eva Steiner, อ้างแล้ว, หน้า 152
[6] หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, (ก.ท.ม: สำนักพิมพ์ประกายพรึก), หน้า 171
ที่มา – ประชาไท