ข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับนักพัฒนาโมเดลรางรถไฟ เป็นชัยชนะทางศาลครั้งยิ่งใหญ่ของ ขบวนการซอฟท์แวร์เสรีหรือที่รู้จักกันในชื่อซอฟท์แวร์รหัสเปิด ศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตันได้วินิจฉัยในคำพิพากษาคดีว่า การที่โปรแกรมเมอร์ยินยอมให้ผู้อื่นนำผลงานของตนไปใช้ได้โดยเสรี ไม่ได้หมายความว่าผลงานนั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
คำพิพากษาของศาลยังได้ระบุว่า การใช้สัญญาทางพานิชย์เพื่อเผยแพร่ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์และงานศิลปกรรมคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์สาธารณะ สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาคดีนี้ ได้สนับสนุนขบวนการซอฟท์แวร์รหัสเปิด โดยช่วยลดความวิตกกังวลขององค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ซอฟท์แวร์เสรีที่เขียนโดยแฮกเกอร์และโปรแกรมเมอร์ที่ทำเป็นงานอดิเรก
ซึ่งได้อุทิศเวลาและแรงงานโดยไม่มีค่าตอบแทน
คำพิพากษานี้ ยังมีผลต่อสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อดัดแปลงและแบ่งปันงานสร้างสรรค์อย่างเสรี ที่นายลารี่ เลสสิก(Larry Lessig) ศาสตราจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2002
สัญญาอนุญาตดังกล่าว ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายโดยองค์กรเช่น MIT เพื่อเผยแพร่เอกสารประกอบการเรียนการสอน และ วิกีพีเดีย (Wikipedia ) โครงการสารานุกรมออนไลน์
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วงดนตรีร็อคไนน์อินช์เนลส์( Nine Inch Nails) ก็ได้เผยแพร่อัลบั้มรวมดนตรี โดยใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
โจอิชิ อิโตะ (Joichi Ito) หัวหน้าคณะผู้บริหารของครีเอทีฟคอมมอนส์กล่าวว่า ความคลุมเครือของสัญญาอนุญาต เป็นอุปสรรคสำคัญของขบวนการ
เขากล่าวว่า “เมื่อบริษัทขนาดใหญ่และทีมกฎหมาย ดูสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ จากมุมมองทางปฏิบัติของธุรกิจจะมีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งทีมกฎหมายเหล่านั้น ก็จะถามต่อมาที่เรา”
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว เป็นการกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแห่งสหรัฐที่ซานฟรานซิสโกเกี่ยวกับการใช้ซอฟท์แวร์โดยไม่ชอบของบริษัท ซึ่งเผยแพร่ซอฟท์แวร์แบบจำลองรางรถไฟของนักพัฒนาที่ทำเป็นงานอดิเรก
ชุมชนซอฟท์แวร์เสรีหรือซอฟท์แวร์รหัสเปิด ได้โต้เถียงอย่างยาวนานกับนายแมททิว แคทเซอร์ (Matthew Katzer) นักธุรกิจเจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมแคม( Kam Industries )จากเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน
โดยก่อนหน้านี้ นายแคทเซอร์ ได้ฟ้องคดีนักพัฒนาซอฟท์แวร์เสรีหลายคนว่า ไปละเมิดสิทธิบัตรของเขา แต่นักพัฒนาซอฟแวร์เสรีเหล่านั้น ได้โต้แย้งว่า เขาไม่ได้เปิดเผยเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนแล้ว ที่รู้จักกันในชื่อว่า ไพรออร์ อาท(prior art) ในคำขอจดสิทธิบัตรของเขา ทนายของนายแคทเซอร์ ไม่ได้ติดต่อกลับ เมื่อถูกขอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
เมื่อเดือนมีนาคม 2006 นายโรเบิร์ท จาคอบสัน (Robert Jacobsen )ศาสตราจารย์ฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์คเลย์ ได้ฟ้องคดีนายแคทเซอร์ว่า
บริษัทของเขาได้นำรหัสซอฟท์แวร์จากโครงการจาวาเรลโรดอินเตอร์เฟส(Java Model Railroad Interface) มาใช้และเผยแพร่โปรแกรมที่ใช้รหัสซอฟท์แวร์เพื่อการค้า โดยไม่ได้อ้างอิงที่มาของรหัสซอฟท์แวร์ ตามเงื่อนไขการใช้งานที่ระบุในสัญญาอนุญาตของซอฟท์แวร์นั้น
การตัดสินใจอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กล่าวว่าข้อตกลงในสัญญาอนุญาตซอฟแวร์รหัสเปิดนั้นกว้างเกินไปได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างรุนแรงในขบวนการซอฟท์แวร์เสรี
ผู้สนับสนุนซอฟท์แวร์รหัสเปิดบางกลุ่มได้แสดงความกังวลว่าการแพ้คดีในศาลอุทธรณ์ จะเป็นหายนะของชุมชนที่ได้พัฒนาเติบโตจนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมา นายจาคอบสันกล่าวว่า “ตอนนั้นผมกลัวจริงๆ ว่าเราจะแพ้ แต่ผมก็คิดว่า ผมได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง”
ความเชื่อมโยงระหว่างนักพัฒนาโมเดลรางรถไฟกับขบวนการซอฟท์แวร์เสรีมีมานานแล้ว ตัวอย่างเช่นในระหว่างปี 1950 นักพัฒนาที่ทำงานเดินสายไฟของโครงการคลับโมเดลรางรถไฟที่ MIT เป็นงานอดิเรก มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า แฮกเกอร์ ปรากฎตามหนังสือ “Hackers: Heroes of the Computer Revolution” ของ Steven Levy
คำนี้ในภายหลังได้ค่อยๆพัฒนามา จนมีความหมายรวมถึงนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า รหัสซอฟท์แวร์สมควรแบ่งปันกันอย่างเสรี
ขอขอบคุณ คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร ในการแปลและเรียบเรียงต้นร่างของงานชิ้นนี้
ที่มา – โครงการครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย
ที่มาของงานต้นฉบับ-หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลเฮรัลทรีบูน 14 สิงหาคม 2008