จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 150 เดือนมกราคม 2567
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 442) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึ่งประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และได้ซื้อหน่วยลงทุนนั้นในระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2575 โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนเพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/41PijfM
2. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรการภาษี Easy E-Receipt
กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบรับตามมาตรา 105 ทั้งนี้ เฉพาะกรณีได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4aFuJee
3. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ
- กำหนดหลักเกณฑ์ของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
- กำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร
- กำหนดหลักเกณฑ์การซื้อสินค้าหรือรับบริการ
- กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/47xO1zs
4. กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ กำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษเป็นบัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกินหนึ่งพันล้านบาท ต้องมีบัญชีพิเศษ ถึงแม้ต่อมามีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินหนึ่งพันล้าน ให้ยังคงมีหน้าที่จัดทำบัญชีพิเศษ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3H7ZfA5
5. การชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 68) แก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 66) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3vtd4Gy
6. การชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับตราสารบางลักษณะ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 69) แก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 67) เรื่อง กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4aMvtyh
ข่าวภาษี
1. การปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (AANZFTA)
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1) เห็นชอบบัญชีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules of Origin : PSRs) ในพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 [Harmonized System 2022 (HS 2022)] ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (ASEAN – Australia – New Zealand Free Trade Area : AANZFTA) (ความตกลง AANZFTA) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ พณ. สามารถดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2) อนุมัติให้ พณ. โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะคณะกรรมาธิการร่วมความตกลง AANZFTA (AANZFTA Joint Committee : JC) ของไทยแจ้งการให้ความเห็นชอบดังกล่าวต่อสมาชิกความตกลง AANZFTA
3) มอบหมายให้ พณ. และกระทรวงการคลัง (กค.) ดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้บัญชี PSRs ฉบับปี 2022 ภายใต้ความตกลง AANZFTA เริ่มมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3TXYMb9
2. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้
- ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังเสนอเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค (เดิมสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
- กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยมาตรการภาษีดังกล่าวทำให้สูญเสียรายได้ภาษีปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3RTSTcp
3. การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน (ฉบับที่ ..)
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลังเป็นการขยายระยะเวลาการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีสิทธิพิเศษและไม่มีสิทธิพิเศษทางศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี
- ขยายระยะเวลาการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ลงไม่เกินร้อยละ 40
- การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ตามข้อ 1. ผู้นำของเข้ารถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวต้องแสดงหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต
- กรณีที่ผู้นำของเข้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และกรมสรรพสามิตได้แจ้งยกเลิกหรือเพิกถอนการได้รับสิทธิสำหรับของนั้นกับกรมศุลกากรแล้ว ให้ถือว่าของนั้นไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศฉบับนี้ตั้งแต่วันนำของเข้า โดยผู้นำของเข้ามีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระและต้องชำระค่าภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนสิทธิ แต่ไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรในการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามความตกลงการค้าเสรีที่ได้ยื่นไว้ขณะนำของเข้า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3RTSTcp
4.กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สินค้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 1)
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเป็นการล่วงหน้าแล้ว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยขยายระยะเวลาการใช้บังคับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (ประเภทที่ 06.01 และ 06.02) แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลรุ่นที่ 1 (ECO Car Phase 1) ในอัตราร้อยละ 14 ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3RTSTcp
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5422/2536
ระหว่าง บริษัท ท. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70
ประเด็นข้อพิพาท : เงินได้พึงประเมินที่จ่ายจากประเทศไทย กรณีค่าจ้างแปลข้อมูลจากคลื่นเสียงออกมาเป็นภาพ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) หรือเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) และผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
คำพิพากษา : กิจการของบริษัท ด. ซึ่งรับทำการแปลข้อมูลทางธรณีวิทยาจากผู้ว่าจ้างทั่วไป ถือเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง และธุรกิจในการรับแปลข้อมูลถือเป็นการรับทำงานให้ด้วยจึงต้องพิจารณาว่าเงินได้จากกิจการดังกล่าวจะถือว่าเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) หรือเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ฯลฯ เงินได้ประเภทนี้ควรอยู่ในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน คือลักษณะงานที่ทำมีค่าใช้จ่ายเท่ากัน ส่วนเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ ฯลฯ เป็นเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ประมวลรัษฎากรจึงยอมให้หักค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับรายจ่ายของบริษัท ด. ในการรับแปลข้อมูลให้โจทก์นั้น พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า ในการทำงานแปลข้อมูลของบริษัท ด. จะต้องกระทำหลายขั้นตอน นับแต่จัดหมวดหมู่ของสัญญาณปรับระดับข้อมูลเข้าสู่แนวระดับมาตรฐาน ปรับคลื่นเสียงให้อยู่ในระดับเดียวกัน ปรับตำแหน่งสัญญาณให้ถูกต้อง มีการกรองความถี่ให้อยู่ในช่วงที่เห็นชัดเจนและกำจัดความสับสน แล้วจึงแสดงออกมาเป็นภาพพิมพ์ ในการดำเนินงานต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีเทคโนโลยีสูง เครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมซับซ้อน บุคคลต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 70 ของรายได้ ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการทำงานดังกล่าวค่าใช้จ่ายไม่มาก พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า จึงรับฟังได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวของบริษัท ด. มีค่าใช้จ่ายสูง ด้วยเหตุนี้ เงินได้ที่โจทก์จ่ายให้บริษัท ด. จึงมิใช่เงินได้จากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้นชอบแล้ว
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรจะถือเป็นเงินได้ประเภทใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงรายจ่ายและลักษณะของงานที่ทำประกอบด้วย เงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ลักษณะงานที่ทำจะเห็นได้ว่าในการรับทำงานดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้กำลังแรงกายหรือกำลังจากสมองในการทำงานทำนองเดียวกับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ประมวลรัษฎากรจึงกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้น้อยและหักค่าใช้จ่ายเท่ากัน รวมกันนำไปหักค่าใช้จ่ายรวมกับ 40 (1) ด้วย ส่วนเงินได้ตามมาตรา 40 (8) เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ อันเป็นงานที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง มีการลงทุน มีการใช้เงินในจำนวนสูงเพื่อใช้ในการประกอบการทำงาน ประมวลรัษฎากรจึงยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเงินได้ตามมาตรา 40 (2) สำหรับคดีดังกล่าว เมื่องานแปลข้อมูลทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันที่บริษัท ด. แห่งประเทศสหรัฐอเมริการับทำให้โจทก์เป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้บริษัท ด. จึงมิใช่เงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) แต่เป็นเงินได้จากการธุรกิจตามมาตรา 40 (8) โจทก์จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
คณะทำงานฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายภาษี
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725