จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 135 เดือนตุลาคม 2565
กฎหมายใหม่ล่าสุด
- ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการสำนักงาน ป.ย.ป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง)
- แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน
ข่าวภาษี
–
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1015/2539
ระหว่าง บริษัท ท. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการสำนักงาน ป.ย.ป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง)
ประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 424) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 134) ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 โดยกำหนดให้เพิ่มกองทุนสวัสดิการสำนักงาน ป.ย.ป. เป็นกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการที่ผู้บริจาคมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนดังกล่าว ซึ่งได้บริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3xsqbp4 และ https://bit.ly/3Iw7Eig
2.แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159) เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3ItcJb4 และ https://bit.ly/3YEMbt5
3.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) โดยการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 245) แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ การออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3I9hEwe และ https://bit.ly/3SlC0aB
4.กำหนดหลักเกณฑ์ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 428) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3XLcWLe และ https://bit.ly/3YYdXjT
ข่าวภาษี
–
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1015/2539
ระหว่าง บริษัท ท. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย
ประเด็นข้อพิพาท : โจทก์มีฐานะเป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัท ม. และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย หรือไม่
ข้อเท็จจริง : โจทก์เป็นนายหน้าติดต่อซื้อขายสินค้าผ้าระหว่าง บริษัท ท. และ บริษัท ม. ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ โดยบริษัท ม. ตกลงและกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการซื้อขายสินค้าผ้ากับโจทก์ โจทก์จึงแจ้งไปยังบริษัท ท. ทราบ ต่อมาบริษัท ท. จึงตกลงซื้อสินค้าผ้าจากบริษัท ม. และได้ชำระเงินให้แก่บริษัท ม. โดยตรง ต่อมาโจทก์ได้รับค่านายหน้าจากบริษัท ท. จำนวน 1,503.23 บาท
เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบแล้ว เห็นว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัท ม. จึงประเมินให้เสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ, 71(1) และ 70 ทวิ รวมทั้งสิ้น 7,121.79 บาท
คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์แนะนำบริษัท ม. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศให้แก่บริษัท ท. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ในประเทศไทย และได้มีการติดต่อผ่านโจทก์จนทำการซื้อขายสินค้ากัน แม้ผู้ซื้อซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์จะทำสัญญาซื้อขาย และชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศโดยตรง โดยโจทก์มิได้มีส่วนรับผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหรือการชำระค่าสินค้าก็ตาม แต่การที่บริษัทต่างประเทศสามารถขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยได้ก็เนื่องมาจากโจทก์เป็นตัวเชื่อมให้ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกัน จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เมื่อบริษัทต่างประเทศได้รับชำระค่าสินค้าย่อมมีเงินได้หรือผลกำไรรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นแบบรายการและเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 76 ทวิ
แต่ปัญหาว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากการจำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิหรือไม่นั้น เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้นต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไร โจทก์เป็นเพียงผู้แทนทำการติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยในการขายสินค้าแทนบริษัทต่างประเทศไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศและเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร โดยข้อเท็จจริงได้ความว่า ลูกค้าของโจทก์ในประเทศไทยได้ติดต่อทำสัญญาซื้อขายและชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทในต่างประเทศโดยตรง แม้ค่าสินค้าที่ลูกค้าชำระจะมีเงินกำไรรวมอยู่ด้วย แต่โจทก์ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเงินไปชำระค่าสินค้าถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากการจำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากเจตนารมณ์ส่วนหนึ่งของมาตรา 76 ทวิ นั้น เกิดจากการที่รัฐต้องการเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ไม่ได้มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย แต่มีเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย จึงบัญญัติให้ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย โดยบุคคลดังกล่าวไม่จำต้องเป็นคู่สัญญากับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เพียงแค่ติดต่อเป็นผู้ประสานงานหรือเป็นนายหน้าซึ่งทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศได้รับเงินได้หรือเงินกำไรจากประเทศไทยก็เพียงพอให้บุคคลผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อดังกล่าวมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามมาตรา 76 ทวิ
สำหรับกรณีการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวินั้น โดยหลักแล้วผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตราดังกล่าวนี้ คือ บุคคลผู้จำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัท ท. ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัท ม. โดยตรง อีกทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นสำนักงานสาขาของบริษัท ม. ดังนั้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย และไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 70 ทวิ
อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
มัญจา บุญช่วย
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: wannipas@dlo.co.th