ตอนที่ 1 ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ด้วยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เริ่มทำธุรกิจของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขายของออนไลน์เนื่องจากเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อยู่ที่ไหนก็สามารถนำเสนอขายสินค้าได้โดยไม่ต้องลงทุนมีหน้าร้านของตนเองหรือไม่ต้องลงทุนเสียค่าเช่า เป็นต้น

ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ
ทำความเข้าใจและจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ถูกประเมินให้ต้องรับผิดชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มในภายหลัง
ในครั้งนี้ ขอนำเสนอเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนว่าเป็นอย่างไร และควรจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

โดยทั่วไป การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่คนทั่วไปมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “VAT” นั้น จะเสียจากกรณีขายสินค้าหรือให้บริการ โดยคิดจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ1 ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการให้เป็นผู้ออกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่เรียกเก็บและนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับดังกล่าวแก่สรรพากร ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้ประกอบการจะสามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ ผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้มีฐานะเป็น “ผู้ประกอบการจดทะเบียน” เสียก่อน

อยากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องทำอย่างไร ?

การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถดำเนินการได้ 3 ช่วงเวลา ดังนี้

1. ช่วงก่อนเริ่มประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ2

ผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการได้โดยสมัครใจเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หากผู้ประกอบการมีแผนงานหรือมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น แผนการก่อสร้างอาคารโรงงานหรือการติดตั้งเครื่องจักร

2. ช่วงเริ่มประกอบธุรกิจ3

ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการและกิจการยังไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้โดยสมัครใจ เพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี4

3. ช่วงประกอบธุรกิจแล้วมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี5

ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ และมีรายได้จากการประกอบกิจการเกิน 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รายได้ในการประกอบกิจการเกิน 1,800,000 บาท ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดต้องชำระเบี้ยปรับตามกฎหมาย เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0702/3397 ฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2551

ทั้งนี้ สำหรับการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายเพิ่มเติมด้วย

ข้อดีของการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

1. ช่วยลดต้นทุนเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (เครดิตหรือขอคืน) ให้แก่ผู้บริโภคได้ ทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการจดทะเบียนลดลง

2. ระบบบัญชีที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ รายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ หรือรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แล้วแต่กรณี ทำให้การบันทึกรายการบัญชีของกิจการเป็นไปอย่างมีระบบไปโดยปริยาย เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0702/9488

3. ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าและเพิ่มโอกาสในทางธุรกิจ เพราะเมื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ก็จะมีใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่ออกโดยกรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบและสามารถตรวจสอบสถานะและความมีตัวตนของผู้ประกอบการรายนั้นได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนก็มักจะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการกับผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกันเอง เพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มที่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมซื้อสินค้าหรือใช้บริการกับผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)

แลกมาด้วยข้อเสียที่ยอมรับได้

1. มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้น เมื่อผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ต้องบวกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ที่สินค้าหรือบริการ ดังนั้น กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ประกอบการหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมทำให้บุคคลดังกล่าวจะรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วย อันเป็นไปตามหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ว่า ผู้เสียภาษี คือ ผู้บริโภค

2. มีหน้าที่นำส่งเอกสารต่อสรรพากร เมื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภ.พ.30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ถึงแม้ว่าในเดือนนั้น ๆ กิจการจะไม่มีการซื้อขายหรือให้บริการก็ตาม6

3. ความเสี่ยงจากการปฏิบัติการทางภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง หากกิจการใดไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางภาษี อาจมีความเสี่ยงในการปฏิบัติการทางภาษีที่ไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้ อย่างไรก็ดี การเพิ่มความรู้ทางภาษีให้แก่บุคลากรที่มีอยู่เดิม หรือจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ทางภาษีเพิ่มเติมก็จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนถือได้ว่าเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่ต้องรับภาระจากภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ต้นทุนของกิจการลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและมูลค่าในทางธุรกิจแก่กิจการ ทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถขยายฐานลูกค้าหรือกำไรในทางธุรกิจจากการขายสินค้าหรือให้บริการที่มากขึ้นได้ แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องคำนึงเสมอว่า สิทธิประโยชน์ดังกล่าวก็มาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อาจส่งผลให้ต้องรับผิดชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มในอนาคตได้

สำหรับในตอนที่ 2 ต่อไป ผู้เขียนจะขอนำเสนอในเรื่องกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

1ประมวลรัษฎากร มาตรา 79 บัญญัติว่า “… ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ …”
2ประมวลรัษฎากร มาตรา 85 บัญญัติว่า “ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการ …”
ประกอบ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) บัญญัติว่า “ข้อ 1 ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการได้ในเมื่อ
   (1) ผู้ประกอบการดังกล่าวมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและ
   (2) มีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการ อันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร
   ให้ผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดหกเดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ …”
3ประมวลรัษฎากร มาตรา 81/3 บัญญัติว่า “ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนดเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวดนี้ได้ โดยต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
   (1) กิจการขายสินค้าตามที่ระบุไว้ในมาตรา 81 (1) (ก) ถึง (ฉ)
   (2) กิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1
   (3) กิจการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”
4ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 บัญญัติว่า “… ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี …”
5ประมวลรัษฎากร มาตรา 81/1 บัญญัติว่า “ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม …”
ประกอบ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 432) มาตรา 4 บัญญัติว่า “มูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี”
6ประมวลรัษฎากร มาตรา 83 บัญญัติว่า “ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยให้ยื่นเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษี ถ้ามี ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม
   การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใด ให้ยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป …”
ประกอบ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) บัญญัติว่า “ข้อ 2 ให้กำหนดแบบดังต่อไปนี้ เป็นแบบเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
   (5) แบบ ภ.พ.30 และแบบ ภ.พ.31 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม …”