ในบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บริษัทจำนวนมากในประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ซึ่งในเรื่องนี้ เป็นที่น่าเสียใจที่บางบริษัทจำเป็นต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี บทความนี้จะให้ภาพรวมพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการเลิกกิจการและชำระบัญชี รวมทั้งขั้นตอนสำคัญที่เกี่ยวข้องและปัญหาหลักที่ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทควรตระหนักก่อนจะเข้าดำเนินการตามแนวทางนี้
การเลิกกิจการบริษัทจำกัด
บริษัทต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมในการเลิกกิจการบริษัท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ. หรือ “ประมวลกฎหมาย”) ของประเทศไทยบัญญัติกรณีต่าง ๆ เอาไว้ในการจะให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเลิกกิจการ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีดังนี้
1. กรณีข้อบังคับบริษัท (ข้อบังคับบริษัท) ของบริษัทนั้นกำหนดให้บริษัทเลิกกิจการได้ในบางกรณี เช่น มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
2. กรณีจัดตั้งบริษัทมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนั้น
3. กรณีจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่อง แล้วจึงบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น
4. กรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติพิเศษให้เลิกกิจการบริษัท
5. นอกจากนี้ ศาลไทยยังสามารถมีคำสั่งให้เลิกกิจการบริษัทได้อีกด้วย ในกรณีดังต่อไปนี้
ก. กรณีบริษัทผิดนัดในการยื่นส่งรายงานตามกฎหมาย หรือในการจัดการประชุมตั้งบริษัท (เป็นการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของบริษัทที่ผู้ก่อการตั้งบริษัทส่งมอบการดำเนินการบริษัทให้แก่กรรมการชุดแรก)1
ข. กรณีบริษัทไม่เริ่มประกอบกิจการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียน หรือบริษัทพักการประกอบกิจการไว้ตลอดทั้งปี
ค. กรณีบริษัทประกอบกิจการมีแต่ผลขาดทุน และไม่มีโอกาสที่บริษัทจะได้คืนมาซึ่งเงินจำนวนมหาศาล
ง. กรณีจำนวนผู้ถือหุ้นลดลงเหลือน้อยกว่าสามคน
การเลิกกิจการบริษัทเนื่องจากการมีมติพิเศษของผู้ถือหุ้น และเรื่องสำคัญที่จะต้องทราบ
ก่อนจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลิกกิจการบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ควรแต่เพียงพิจารณาข้อบังคับบริษัทและข้อกำหนดของข้อบังคับบริษัทเท่านั้น แต่ยังควรทบทวนสัญญาผู้ถือหุ้นที่มีผลสมบูรณ์ใด ๆ ซึ่งดำรงคงอยู่อีกด้วย เนื่องจากสัญญาดังกล่าวนั้นอาจกำหนดบังคับหน้าที่บางประการไว้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วยหากผู้ถือหุ้นประสงค์จะเลิกกิจการบริษัท นอกจากนี้ พึงทราบไว้ด้วยว่า ในการลงมติพิเศษตามกฎหมายไทยนั้นจำเป็นต้องมีคะแนนเสียงยืนยันขั้นต่ำร้อยละ 75 จากผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งได้เรียกประชุมโดยถูกต้อง การประชุมผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมโดยถูกต้อง (ในกรณีนี้) กำหนดให้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1. แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสี่ (14) วัน โดยต้องจัดส่งหนังสือเชิญประชุมและวาระการประชุมถึงผู้ถือหุ้นทุกคนโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนและลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (เว้นแต่ข้อบังคับบริษัทจะกำหนดให้มีระยะเวลาบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่านั้น)
2. ระเบียบวาระในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นจะต้องกล่าวถึงมติที่ประสงค์ให้เลิกกิจการบริษัท
3. ตามปกติคณะกรรมการต้องกำหนดให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมคณะกรรมการซึ่งได้เรียกประชุมโดยถูกต้อง
4. การประชุมผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องครบองค์ประชุมที่กำหนด ซึ่งโดยกฎหมายแล้วจำเป็นต้องมีผู้ถือหุ้นซึ่งนับจำนวนหุ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 25 แห่งทุนของบริษัทเข้าประชุม ไม่ว่าข้อบังคับบริษัทจะกำหนดจำนวนขั้นต่ำสูงกว่าเพียงใดก็ตาม
หากผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษที่จำเป็นในการอนุญาตให้เลิกกิจการบริษัทแล้ว เมื่อนั้น ผู้ถือหุ้นยังจำเป็นจะต้องมีมติ
- แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีให้ทำการชำระบัญชีบริษัท และกำหนดค่าตอบแทนของผู้ชำระบัญชี2 และ
- แต่งตั้งผู้สอบบัญชีให้ทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัท และกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี3
หลังจากดำเนินการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็ให้บริษัทนำการเลิกกิจการพร้อมชื่อผู้ชำระบัญชีไปจดทะเบียนกับกรมทะเบียนการค้า ณ กระทรวงพาณิชย์ภายในสิบสี่ (14) วัน หลังจากผู้ชำระบัญชีได้ทำการเลิกกิจการบริษัทแล้ว
สรุปขั้นตอนการเลิกกิจการและชำระบัญชีบริษัทจำกัดในประเทศไทย
1. ออกหนังสือเชิญให้กรรมการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ (คณะกรรมการ)
2. จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อมีมติ
2.1 อนุมัติเลิกกิจการบริษัทและเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.2 เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (ประชุมใหญ่วิสามัญ) ครั้งที่ 1
3. มีหนังสือเชิญให้ผู้ถือหุ้นเข้าประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1 พร้อมมีประกาศหนึ่งครั้งในหนังสือพิมพ์ท้องที่
4. จัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เพื่อ
4.1 มีมติพิเศษ (ซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงยืนยันร้อยละ 75) อนุมัติให้เลิกกิจการบริษัท และ
4.2 แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนของผู้ชำระบัญชี และ
4.3 แต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี
5. ให้ผู้ชำระบัญชีมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหนี้ ลูกหนี้ของบริษัท (ถ้ามี) และลงประกาศแจ้งการเลิกกิจการในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
6. ให้ผู้ชำระบัญชียื่นคำขอจดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ภายในเวลาสิบสี่ (14) วัน นับแต่วันที่มีมติพิเศษให้เลิกกิจการบริษัท หากได้รับคำขอดังกล่าวนี้ไว้แล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็จะออกหนังสือรับรองยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรให้ (“หนังสือรับรอง”)
7. ยื่นแจ้งเลิกกิจการบริษัทต่อกรมสรรพากรและส่งคืนต้นฉบับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบภ.พ.20) และต้นฉบับใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (แบบภ.ธ.20) ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อกรมสรรพากร (ภายใน 15 วัน นับแต่วันเลิกกิจการ)
8. สาม (3) เดือน หลังจากวันเลิกกิจการซึ่งได้รับอนุมัติจากบริษัทแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชียื่นรายงาน (แบบล.ช.3) ต่อนายทะเบียนบริษัท ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยแจ้งผลในเรื่องสถานะการชำระบัญชี ในขณะที่การชำระบัญชียังคงดำเนินการอยู่ จะต้องยื่นแบบฟอร์มนี้ทุกสาม (3) เดือนจนกว่าจะเสร็จการชำระบัญชี
9. ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ของหนังสือรับรอง ผู้ชำระบัญชีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบภ.ง.ด.50) ฉบับสุดท้ายต่อกรมสรรพากร
10. เมื่อเสร็จการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้น (ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2*) เพื่ออนุมัติรายงานผลการชำระบัญชี
* หมายเหตุ หากการชำระบัญชียังไม่เสร็จสิ้นเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี เมื่อนั้น บริษัทจะต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นรายปีเพื่อมีมติแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีคนใหม่หรือแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีคนเดิมใหม่อีกครั้งและอนุมัติรายงานผลการชำระบัญชี ฯลฯ (กล่าวคือ ยังไม่แล้วเสร็จ) โดยเมื่อนั้นจำเป็นจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม (ได้แก่ การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3 หรือครั้งที่ 4 หรือครั้งที่ 5) จนกว่าจะเสร็จการชำระบัญชี
11. จัดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติรายงานผล (เสร็จ) การชำระบัญชี โดยให้เป็นที่ทราบว่า การดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบริษัทได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งอนุมัติให้ขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว
12. ภายในสิบสี่ (14) วัน นับแต่ที่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 ได้อนุมัติรายงานผล (เสร็จสิ้น) การชำระบัญชีแล้ว ผู้ชำระบัญชีต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเสร็จสิ้นกระบวนการชำระบัญชีต่อ DBD
1ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทำการเลิกกิจการบริษัทจำกัดในกรณีเช่นนี้ หากแต่ศาลจะสามารถวินิจฉัยสั่งให้ยื่นส่งรายงานตามกฎหมายหรือให้จัดประชุมจัดตั้งบริษัทตามที่ศาลเห็นสมควรเสียมากกว่า
2โดยปกติแล้ว กรรมการบริษัทเป็นผู้ชำระบัญชี เว้นแต่ข้อบังคับบริษัทจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือการเลิกกิจการมีเหตุมาจากการล้มละลาย อย่างไรก็ดี หากไม่มีบุคคลใดกระทำการเป็นผู้ชำระบัญชี เมื่อนั้น พนักงานอัยการหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย (เช่น ผู้ถือหุ้น) สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลโดยขอให้ทำการแต่งตั้งบุคคลให้ครบเต็มตำแหน่งดังกล่าวนี้ได้
3เมื่อคัดเลือกผู้สอบบัญชีของบริษัท ผู้ถือหุ้นพึงระมัดระวังหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีผลประโยชน์ขัดกัน เช่น ผู้สอบบัญชีซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้จัดทำบัญชี
หากท่านต้องการความช่วยเหลือด้านกฎหมายใดๆ ในเรื่องการเลิกกิจการและชำระบัญชีบริษัทจำกัด โปรดติดต่อเราที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330
โทร. (66) 2680 9777 โทรสาร (66) 2680 9711
อีเมล ryan@dlo.co.th หรือ chalapunj@dlo.co.th