- ธรรมนิติ
- /
- เกี่ยวกับธรรมนิติ
- /
- การเสริมความเข้มแข็งขององค์กรนำและการบริหารแบบรวมหมู่
การเสริมความเข้มแข็งขององค์กรนำและการบริหารแบบรวมหมู่
๑. มติของสภากรรมการเกี่ยวกับแนวทางนโยบายของปี ๒๕๒๙ ได้ชี้แนะเกี่ยวกับการบริหารของเราไว้ว่า “ชาวธรรมนิติควรเข้าใจความแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่างองค์กรของเรากับองค์กรธุรกิจทั่วๆ ไปว่า เราเชิดชูการบริหารแบบรวมหมู่ ในขณะที่องค์กรทั่วไปถือบุคคลคนเดียวมีอำนาจสิทธิขาดข้อดีข้อนี้เราได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทำให้กิจการงานทั่วไปของเราดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง แม้จะผิดพลาดก็จะผิดได้ไม่นาน และจะถูกนำไปในทางที่ถูกต้องโดยรวดเร็ว”
ในปี ๒๕๒๙ เราได้ดำเนินงานตามคำชี้แนะนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เป็นผลให้ผู้บริหารระดับต่างๆ หลายคนได้ดัดแปลงตนเอง ค่อยๆ เข้าใจและสันทัดต่อแนวทางการบริหารแบบรวมหมู่ คณะกรรมการจัดการมีความเข้มแข็งมากขึ้น เป็นองค์กรนำในระดับอำนวยการงานได้อย่างดี คณะกรรมการด้านกฎหมายและคดี และคณะกรรมการด้านธุรกิจและบัญชีได้แสดงบทบาทการนำในระดับด้านและบทบาทในการกำกับงานได้ดี และเข้มแข็งกว่าปี ๒๕๒๘ มาก ได้ก่อรากฐานที่มั่นคงและเป็นแบบแผนในการที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป แต่คณะกรรมการฝ่ายนั้น แม้จะได้ก่อรูปขึ้นทุกฝ่ายทั่วทั้งบริษัทแล้ว แต่ยังไม่มีบทบาทที่เด่นชัด สภาพทั่วไปยังมีลักษณะอ่อนแอ และยังไม่สามารถแบกรับภารกิจนำงานของฝ่ายได้โดยสรุปก็คือ ยังมีความอ่อนแอทั้งโดยรูปแบบและเนื้อหา
๒. ในปี ๒๕๓๐ เราจะยังคงยืนหยัดปฏิบัติตามแนวทางนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พัฒนาการบริหารแบบรวมหมู่ของเราให้ยกระดับสูงขึ้นอีกหลายๆ ขั้น
ในวิถีแห่งธรรมนิติ ได้ถือวิถีเอกภาพเป็นวิถีที่สำคัญประการหนึ่ง โดยเน้นที่ความเป็นเอกภาพของคน เพราะการงานทั้งหลายของธรรมนิติ ล้วนกระทำและขึ้นต่อคนทั้งสิ้น ดังนั้น แนวทางการบริหารแบบรวมหมู่ของเรา จึงต้องสอดคล้องและเป็นแนวเดียวกับวิถีเอกภาพดังกล่าว
การบริหารแบบรวมหมู่จะมีความเข้มแข็งและมีพลังได้ ก็เพราะมีความเป็นเอกภาพของทีมงานซึ่งประกอบอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเอกภาพทางความคิด ความเป็นเอกภาพทางความรู้ และความเป็นเอกภาพทางการปฏิบัติ และโดยนัยนี้ ความเป็นเอกภาพทั้ง ๓ ประการดังกล่าว จึงเป็นพื้นฐานและองค์ประกอบสำคัญของความเข้มแข็ง และมีพลังของการบริหารแบบรวมหมู่และด้วยเหตุนี้เราจึงควรทำความเข้าใจความเป็นเอกภาพ ๓ ประการนี้ให้ดี
เอกภาพทางความคิด หมายถึง ความเป็นเอกภาพของกระบวนการและวิธีการคิด ธรรมดาคนเรานั้นกระทำการมากหลาย โดยไม่ต้องอาศัยหรือใช้กระบวนการและวิธีการคิด เช่น การรับประทานอาหาร เมื่อตักอาหารเข้าปาก เคี้ยวและกลืน ก็ดี หรือการฟัง เมื่อมีเสียงกระทบ ประสาทหูก็เกิดการได้ยิน ซึ่งไม่ต้องมีกระบวนการหรือวิธีการอะไร ทั้งคนทั้งสัตว์ก็ปฏิบัติหรือสัมผัสอย่างเดียวกัน แต่ความคิดไม่เป็นเช่นนั้น มีลักษณะที่พิเศษ จำแนกอย่างแท้จริงระหว่างคนกับสัตว์ หรือแม้ระหว่างคนด้วยกัน การที่เรื่องเดียวเหตุการณ์เดียวกัน แต่คนคิดเห็นต่างกัน ย่อมเป็นผลมาจากกระบวนการและวิธีคิดที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ เพราะการคิดนั้น มีกระบวนการและวิธีของมันโดยเฉพาะ
เราเน้นกระบวนการและวิธีการคิดที่เป็นเอกภาพ แต่ไม่ได้ห้ามความคิดที่แตกต่างกัน ขอเพียงแต่มีกระบวนการคิด มีวิธีการคิด ที่เป็นอย่างเดียวกัน แม้จะเกิดผลทางความคิดต่างกัน ก็เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในขอบเขตของเอกภาพทางความคิด จากนี้เราจึงจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างกระบวนการและวิธีคิดกับผลของความคิดว่าเป็นอย่างไร
ปัญหาสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่าจะทำให้กระบวนการคิด และวิธีการคิดเป็นเอกภาพได้อย่างไร ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในปรัชญาของธรรมนิติ วิถีแห่งธรรมนิติ แนวทางนโยบายของธรรมนิติ ขอเพียงแต่ชาวธรรมนิติมีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแจ่มแจ้งเท่านั้น ก็เท่ากับว่าเราได้ปรับกระบวนการและวิธีการคิดให้เป็นเอกภาพแล้ว กระนั้นก็ตาม เรายังยอมรับว่า แม้เราจะมีความเป็นเอกภาพดังว่านี้แล้วก็อาจมีความเห็นที่ต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น จะทำให้การพิจารณาปัญหาและเรื่องราวใดๆ รอบด้านยิ่งขึ้น ทั้งนี้ พึงเข้าใจว่าเรายอมรับความคิดเห็นที่ต่างกันได้ แต่เราจะไม่ยอมรับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ในขณะที่ทุกคนอาจมีความเห็นแตกต่างกันแต่เมื่อเป็นมติแล้วทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมติอย่างเป็นเอกภาพ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม อันเป็นหลักการแห่งการบริหารแบบรวมหมู่ของเรา
เอกภาพทางความรับรู้ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบเดียวกัน หากได้รับข้อมูลที่แตกต่างกัน ย่อมแสดงผลออกมาแตกต่างกันฉันใด ความเป็นเอกภาพทางความรับรู้ของคนเราก็ฉันนั้น ดังนั้น แม้ว่าเราจะมีความเป็นเอกภาพทางความคิดแล้วก็ตาม ก็หาเพียงพอไม่ เรายังจำต้องจัดให้มีความเป็นเอกภาพทางความรับรู้อีกด้วย
ความเป็นเอกภาพทางความรับรู้ก็คือ การรับรู้ข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวทัดเทียมกันเหมือนกัน และในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องอาศัยวิธีการชุดหนึ่งจึงจะสามารถทำให้เกิดความเป็นเอกภาพทางความรับรู้ได้
วิธีการดังกล่าวที่สำคัญ คือ
(๑) รับทราบข้อความใดๆ จากทีมงานด้วยความตั้งใจ และด้วยความแน่ใจว่าได้รับทราบตรงตามที่ได้รับแจ้ง
(๒) แจ้งข้อความที่รับแจ้งและที่ต้องรับรู้ร่วมกันให้ทีมงานทราบในเวลาอันควร โดยไม่ปิดงำหรือขาดตกบกพร่อง
(๓) จัดเวลาที่เหมาะสมให้สามารถพบปะหารือกันอย่างใกล้ชิด และสม่ำเสมอ
(๔) เมื่อรับทราบข้อความจากทีมงานต่างไปจากที่ได้รับทราบจากคนอื่นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ที่รับทราบจากทีมงานถูกต้องกว่า แล้วรีบหาข้อยุติโดยเร็ว
(๕) ต้องตระหนักว่า การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ระหว่างทีมงานอย่างรวดเร็วนั้นจะมีผลต่อประสิทธิภาพของทีมงาน
ความเป็นเอกภาพทางความรับรู้ จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นเอกภาพทางการปฏิบัติ ยิ่งกว่านั้น เมื่อความรับรู้เป็นเอกภาพแล้ว จะเกิดภูมิต้านทานชนิดหนึ่งขึ้นในองค์กรที่สามารถป้องกันความแตกแยก หรือการบ่อนทำลายความสามัคคีของการนำรวมหมู่ได้เป็นอย่างดี
เอกภาพทางการปฏิบัติ เป็นรูปการที่แสดงออกซึ่งเอกภาพทางความคิด เอกภาพทางความรับรู้ และความซื่อสัตย์ต่อหลักการบริหารแบบรวมหมู่
ดังได้กล่าวแล้วในข้างต้นว่า หลักการบริหารแบบรวมหมู่นั้น ยอมรับให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่เมื่อเป็นมติแล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตามมตินั้น หลักการข้อนี้จะละเมิดไม่ได้โดยเด็ดขาด ทั้งต้องเข้าใจว่าการละเมิดหลักการนี้ ก็คือการทำลายหลักการบริหารแบบรวมหมู่และเป็นการก่อสามัคคีเภท ในการทำงานร่วมกันนั้น ทุกคนต้องทำความเข้าใจว่าย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ และจำต้องมีกติกาในการจัดการกับความเห็นที่แตกต่างกันนั้น
กติกานี้ก็คือ ถ้าเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างองค์กรระดับต่างกันหรือระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว ต้องปฏิบัติตามความคิดเห็นขององค์กรระดับสูงกว่า หรือของผู้บังคับบัญชา แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างองค์กรระดับเดียวกันหรือพนักงานระดับเดียวกันต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมาก
กติกานี้จะทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นอย่างเดียวกัน การละเมิดกติกานี้จะทำให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน หรือไม่มีการปฏิบัติเลย
เราไม่ปฏิเสธว่าเสียงข้างมากก็ดี ระดับชั้นสูงกว่าก็ดี อาจผิดพลาดได้แต่ถ้าเราไม่ยอมให้มีการปฏิบัติจะมีผลเสียหายมากกว่า และไม่มีทางประจักษ์ถึงความผิดพลาดได้ และในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของเสียงข้างน้อย หรือระดับล่างที่จะต้องยกเรื่องราวขึ้นให้ทบทวน หรือพิจารณาใหม่ จากนี้ย่อมเห็นได้ว่า แม้หากจะมีความผิดพลาด ก็ไม่อาจผิดพลาดได้นาน และต้องถูกแก้ไขให้เข้าสู่หนทางที่ถูกต้องโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ เสียงข้างน้อยก็ดี ระดับล่างก็ดี พึงตระหนักว่าหลักการนี้มิใช่มีไว้เพื่อจับผิด และมิใช่ว่าถ้าเกิดความผิดขึ้นแล้วจะเป็นเรื่องที่ดี ทั้งมิใช่เรื่องที่จะเอาแพ้ชนะกัน ดังนั้น จึงต้องตระหนักอีกว่า เมื่อเป็นมติแล้วแม้ไม่เห็นชอบก็ต้องยอมรับและปฏิบัติด้วยน้ำใสใจจริง ด้วยความยินดีและอย่างเต็มที่ เสมือนว่าเป็นความคิดเห็นของตน ทีมงานจะต้องพิจารณาจิตใจของตนอยู่เสมอๆ ว่า มีความน้อมใจ และยินดีที่จะปฏิบัติตามมติที่ตนไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ได้หรือไม่ และนี่คือมาตรฐานที่จะใช้วัดว่า การบริหารแบบรวมหมู่ของเราประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
เมื่อใดก็ตามที่ทีมงานมีความน้อมใจและยินดีปฏิบัติตามมติที่ตนไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ ย่อมหมายถึงระบบการบริหารแบบรวมหมู่ของเรา ได้ยกระดับที่สูง และสู่ความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทีมงานยังไม่สามารถน้อมใจและยินดีปฏิบัติตามมติที่ตนไม่เห็นด้วยหรือถึงขนาดเคลื่อนไหวคัดค้านแล้ว ย่อมหมายถึงความอ่อนแอและต้องปรับปรุงต่อไปคือ ต้องปรับปรุงทางความคิดกันอย่างจริงจังต่อไป หากปรับปรุงทางความคิดแล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องปรับปรุงทางการจัดตั้ง คืออาจต้องสับเปลี่ยนบุคลากรบางคนที่ไม่อาจปรับปรุงได้ดังกล่าวแล้ว
เอกภาพทางการปฏิบัติ นอกจากจะต้องยึดหลักการปฏิบัติตามมติอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังจะต้องมีการปฏิบัติที่พร้อมเพรียงกัน หรือตามกำหนดที่ได้รับมอบหมาย แล้วยังหมายถึงการนำมตินั้นไปทำความเข้าใจในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบและนำการปฏิบัติให้บรรลุตามมตินั้นด้วย
เมื่อความคิด ความรับรู้ และการปฏิบัติของทั่วทั้งองค์กรของเรามีความเป็นเอกภาพแล้ว ความเป็นเอกภาพนี้จะเป็นพลังที่มีชีวิตชีวา ที่จะผลักดันองค์กรเราให้ก้าวหน้าไปบรรลุเป้าหมายของธรรมนิติ
๓. การเสริมความเข้มเข็งขององค์กรนำและการบริหารแบบรวมหมู่ของเรา นอกจากจำเป็นต้องสร้างความเป็นเอกภาพดังกล่าวแล้ว เรายังคงจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงทรรศนะบางประการที่จะลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรนำ และการบริหารแบบรวมหมู่ของเรา ที่สำคัญคือ
๓.๑ ทรรศนะพรรคพวก เป็นทรรศนะที่ถือเอากลุ่ม คณะพรรคพวกของตนเป็นใหญ่ กระทั่งใหญ่ และสำคัญกว่าองค์กร ทรรศนะนี้จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดขององค์กรนำและของการบริหารแบบรวมหมู่ องค์กรนำทุกระดับชั้นและทีมงานทุกคนจะต้องหมั่นตรวจสอบองค์กรของตนและจิตใจของตน ขจัดทรรศนะพรรคพวกไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขให้หมดไป
๓.๒ ทรรศนะเสรี เป็นทรรศนะที่ถือเอาตนเองหรืออัตตาเป็นใหญ่กระทั่งใหญ่ และสำคัญกว่าองค์กร แสดงออกโดยการทำการทั้งหลายตามใจชอบ ละเมิดระเบียบวินัย เช่น ไป-มา ทำงานตามอำเภอใจ ไม่นำพาต่อวินัยในเรื่องเวลาทำงาน ทำงานสั่งการต่างๆ ตามความคิดตนเองเป็นใหญ่ ไม่ฟังเสียงทีมงาน ไม่เคารพสายงานการบังคับบัญชา ทรรศนะนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดขององค์กรนำ และของการบริหารแบบรวมหมู่ เพราะในที่สุดก็จะทำให้เกิดทรรศนะเสรีขึ้นทั้งองค์กร มิฉะนั้นก็จะเกิดความแตกสามัคคี หรือมิฉะนั้นก็จะเกิดสภาพเป็นแบบอย่างแห่งการไร้วินัยที่จะทำให้องค์กร ซึ่งมีสภาพเป็น “กองทัพ” กลายเป็น “กองโจร” ทีมงานจึงต้องเพียรสำรวจ ดัดแปลง แก้ไขตนเองขจัดทรรศนะเสรีให้ตกไป
๓.๓ ทรรศนะที่พอใจและหยุดนิ่งกับสภาพปัจจุบัน บางคนไม่ว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ สามารถวางเฉยอยู่ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ร้อนหนาวต่อความก้าวหน้า หรือล้าหลัง ไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อผลกำไรหรือขาดทุน พวกนี้คือพวก “ก้อนหิน” ที่รอวันผุเปื่อย แต่บางคนก้าวหน้ากว่าพวกนี้หน่อยหนึ่ง แต่ไปติดยึดอยู่กับความสำเร็จหรือผลงานในขณะใดขณะหนึ่ง โดยมัวหลงใหลชื่นชมอยู่กับผลงาน หรือผลสำเร็จจนไม่เป็นอันคิดอ่านพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นอีก พวกนี้ก็คือ “สามล้อถูกหวย” ที่ถูกหวยแล้วก็ต้องหยุดงานไปใช้เงินให้หมดเสียก่อน จึงจะมีความตั้งใจมาทำงานใหม่ได้ พวกนี้แม้ดีกว่าพวกแรกแต่ก็ตกอยู่ในวงจรที่อยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้า แต่มีโอกาสที่จะก้าวหน้าได้ด้วยการสำรวจความคิด และตระเตรียมความคิดอยู่เสมอว่า ผลงานและความสำเร็จในขณะใดก็ตาม เป็นเพียงแค่บันไดในการก้าวไปสู่ขั้นต่อไป และต้องก้าวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และนี่คือ “วิถีสร้างสรรค์” แห่งวิถีธรรมนิติ
๓.๔ ทรรศนะรู้ผิดรู้อภัย บางคนขาดความรู้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดี บางคนรู้ผิดรู้ถูกแต่ไม่ยอมรับผิด บางคนยอมรับผิดแต่ไม่แก้ไข บางคนน้อมใจแก้ไขความผิดของตน แต่ไม่ยอมรับในกรณีคนอื่นทำผิด บางคนยอมรับว่าคนอาจทำผิดได้แต่ไม่รู้จักให้อภัยคนอื่น บางคนรู้ผิดชอบและรู้อภัย เหล่านี้เป็นทรรศนะที่เรามีต่อตนเองและต่อผู้อื่น ในกรณีที่มีการทำผิดพลาด กล่าวสำหรับองค์กรนำของเราแล้ว พึงถือหลักที่ประเสริฐที่สุดคือ รู้ผิดและรู้อภัย และนี่คือเกลียวสายโซ่ร้อยใจคนดี ที่สอดคล้องกับวิถีแห่งความมั่นคงของคนของเรา
ปี ๒๕๓๐ เป็นปีที่ธรรมนิติของเรามีอายุครบ ๔๐ ปี หนทางข้างหน้าของเรายังยาวไกล การแข่งขันทางธุรกิจนับวันยิ่งเข้มข้น องค์กรของเรานับวันยิ่งเติบใหญ่ ดังนั้นต่อหน้าสภาพการณ์เช่นนี้ และในโอกาสนี้ ชาวธรรมนิติจึงควรต้องสมัครสมานฉันท์ สร้างสรรค์ธรรมนิติของเรา เสริมความเข้มแข็งขององค์กรนำ และการบริหารแบบรวมหมู่อย่างจริงจัง เสริมความมั่นคงทั่วทั้งองค์กร สร้างความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องต่อไป
หมายเหตุ : มติเรื่องนี้ นายไพศาล พืชมงคล กรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ ๑ เป็นผู้ยกร่าง และได้เสนอต่อคณะกรรมการจัดการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๒๙ หลังจากผ่านการอภิปรายแล้วไม่สามารถออกเป็นมติได้ เนื่องจากคณะกรรมการจัดการเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอ ผู้บริหารระดับรองยังมีจำนวนน้อยและยังไม่ตื่นตัวพอ ครั้นถึงเดือนตุลาคม ๒๕๓๑ คณะกรรมการจัดการได้พิจารณามติเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วลงมติผ่านเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๑ ทั้งนี้ มิได้แก้ไขส่วนที่เกี่ยวกับวันเวลาแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าเนื้อหาโดยทั่วไปชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้ว แต่ให้หมายเหตุชี้แจงไว้
สำนักกรรมการจัดการ
๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๑