จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 116 เดือนกุมภาพันธ์ 2564
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
3. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13006/2558
ระหว่าง
บริษัท อ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง สัญญาฝากทรัพย์
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 400) ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากที่ควรจะกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ ในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไร อีกทั้ง การปรับปรุงดังกล่าวให้ใช้วิธีการกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้ว ดังนี้
(1) วิธีการเปรียบเทียบราคาที่มิได้ถูกควบคุม (Comparable Uncontrolled Price Method)
(2) วิธีราคาขายต่อ (Resale Price Method)
(3) วิธีราคาบวกทุนกำไรส่วนเพิ่ม (Cost Plus Method)
(4) วิธีอัตรากำไรสุทธิที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรม (Transactional Net Margin Method)
(5) วิธีแบ่งสรรกำไรของธุรกรรม (Transactional Profit Split Method)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศอธิบดีกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3c5yehV
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ONlYtK
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้บริการ e – Withholding Tax ของผู้ใช้บริการได้จำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
และกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ONlYtK
3. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) โดยปรับปรุงวงเงินสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญ ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้
1. การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 4 จากเดิมมีจำนวนเกิน 500,000 บาท ขึ้นไป เป็นเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป
2. การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 5 จากเดิมมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท ขึ้นไป เป็นไม่เกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป
3. การจำหน่ายหนี้สูญในข้อ 6 จากเดิมมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3cT2g7D
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13006/2558
ระหว่าง
บริษัท อ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง : สัญญาฝากทรัพย์
ประเด็นข้อพิพาท : สัญญาที่พิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาฝากทรัพย์
ข้อเท็จจริง : โจทก์ทำสัญญาให้ตลาดแห่งหนึ่งเช่าคลังสินค้าเพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสาร ใช้ชื่อว่า สัญญาเช่าคลังสินค้า โจทก์มีหน้าที่หายามเพื่อรักษาความปลอดภัยในคลังสินค้า แต่การครอบครองและดูแลสินค้า รวมถึงการถือครองกุญแจของคลังสินค้าเป็นของผู้เช่า โดยผู้เช่าสามารถนำสินค้าเข้าหรือออกคลังสินค้าได้ตลอดเวลา เมื่อมีคนร้ายมาขโมยสินค้าในคลังสินค้า ผู้เช่าก็เป็นคนแจ้งความและดำเนินคดี ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ มิใช่สัญญาฝากทรัพย์ จึงถือเป็นการให้บริการที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรเห็นว่า สัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ แต่เข้าลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ไม่ได้นำรายรับซึ่งเป็นค่าบริการรับฝากทรัพย์ไว้ในคลังสินค้ามายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยแสดงยอดขายไว้ขาด จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับเป็นจำนวน 1 เท่า และเงินเพิ่ม
คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า แม้สัญญาระหว่างโจทก์และตลาดจะใช้คำว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นสัญญาประเภทใดนั้น จะต้องดูจากเนื้อหาสาระของข้อตกลงเป็นสำคัญ หาใช่ดูแต่เพียงชื่อของสัญญาไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาดังกล่าวแล้ว ข้อสัญญากำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องทำให้คลังสินค้ามีคุณภาพเพียงพอต่อการรองรับน้ำหนักข้าวสารที่กำหนด ต้องจัดหาคนงานที่มีความชำนาญเพื่อทำการขนย้ายข้าวสารให้ผู้เช่า และต้องขนย้ายได้ทันทีและตลอดเวลาตามคำสั่งของผู้เช่า ถ้าคนงานไม่พอโจทก์ก็ต้องหาเพิ่ม ทั้งต้องจัดหายามมาเพื่อรักษาความปลอดภัยของสินค้าอีกด้วย ข้อสัญญาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า โจทก์มิได้ส่งมอบการครอบครองให้ผู้เช่ามีอิสระในการใช้คลังสินค้าเยี่ยงสิทธิผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไป แต่โจทก์ยังคงควบคุมดูแลและดำเนินการต่าง ๆ ภายในคลังสินค้าตลอดเวลา โดยใช้ความระมัดระวังและฝีมือเพื่อรักษาสินค้าในฐานะผู้มีวิชาชีพในกิจการค้าขาย
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นว่า เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากการกระทำกิจการใด ๆ จะเข้าลักษณะเป็นสัญญาประเภทใดและต้องเสียภาษีอย่างไรนั้น ในทางกฎหมายจะต้องดูจากข้อเท็จจริงและเนื้อหาสาระของกิจการนั้นเป็นสาระสำคัญ มิใช่พิจารณาจากชื่อของสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเนื้อหาสาระของกิจการนั้นมุ่งเน้นถึงการเก็บรักษาสินค้าเป็นสำคัญ มิใช่เป็นการส่งมอบการครอบครองในคลังสินค้า กรณีจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการฝากทรัพย์อันอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่ยังคงสำคัญผิดเกี่ยวกับการทำสัญญาอยู่ว่าชื่อของสัญญาจะเป็นสาระสำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาสาระของสัญญา แต่ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ในคำพิพากษามาหลายฉบับอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้วว่า จะต้องพิจารณาถึงเนื้อหาของสัญญาเป็นหลัก มิใช่พิจารณาเพียงแค่ชื่อของสัญญาเพียงอย่างเดียว หากเนื้อหาของสัญญาและชื่อของสัญญาไม่ตรงกันแล้ว จะต้องยึดเนื้อหาของสัญญาเป็นสำคัญก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาจากชื่อสัญญาเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ตีความในสัญญานั้นผิดไปเป็นอีกสัญญาหนึ่งอันส่งผลต่อการเสียภาษีที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีจากสัญญานั้น มีหลายส่วนที่จัดเก็บจากลักษณะของสัญญาเป็นสำคัญ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ทำให้ผู้เสียภาษีต้องตีความสัญญาต่าง ๆ ให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะสามารถคำนวณภาระภาษีที่จะต้องเสียให้ถูกต้องตามไปด้วย หากมีการตีความสัญญาผิดพลาดไปไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้ว อาจจะทำให้ภาระภาษีที่คำนวณได้นั้นผิดพลาดไป และผู้เสียภาษีก็ต้องรับผิดในการชำระเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่เกิดจากการชำระภาษีที่ผิดพลาดด้วย
นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th