ระวัง!! ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยไม่รู้ตัว มีโทษถึงเจ๊ง (ตอนที่ 3)

ตอนที่ 3 ผลของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้

ในตอนที่ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนกับใบกำกับภาษี และตอนที่ 2 ลักษณะของใบกำกับภาษีปลอม ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้ประกอบการจดทะเบียน ใบกำกับภาษี หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียน และภาษีซื้อที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อต้องห้าม ซึ่งรวมถึงใบกำกับภาษีปลอมที่เป็นหนึ่งในรายการของภาษีซื้อต้องห้าม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่รายละเอียดอันเกี่ยวกับผลของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ และแนวทางแก้ไขเมื่อนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้

ในตอนนี้ก็จะกล่าวถึงผลของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านและผู้ประกอบการได้ตระหนักเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ทั้งในทางกฎหมายและในทางธุรกิจ

จากแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในการพิจารณาลักษณะและพฤติกรรมในการออกใบกำกับภาษี ประกอบกับบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรแล้ว ใบกำกับภาษีปลอมจะหมายความถึง “ใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี” และการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกันจริง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรได้1 เนื่องจากเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี2 อันเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่หากผู้ประกอบการนำภาษีซื้อต้องห้ามนั้นมาใช้แล้วจะมีผล ดังนี้

ผลทางกฎหมาย

     1. เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ให้ถูกต้องได้ โดยไม่ให้นำภาษีซื้อต้องห้ามดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายซึ่งจะทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น3
     2. ต้องเสียเบี้ยปรับเป็นจำนวน 2 เท่า ของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอม4 และเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับลงได้5
     3. ต้องเสียเงินเพิ่มเป็นจำนวนร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระหรือนำส่ง (ไม่รวมเบี้ยปรับ) ทั้งนี้ ไม่เกินกว่ามูลค่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง
     4. กรณีนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้โดยเจตนา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท ต่อใบกำกับภาษี 1 ใบ
     5. เจ้าพนักงานประเมินอาจไม่ให้นำรายจ่ายตามใบกำกับภาษีปลอม มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกส่วนหนึ่งด้วย

ผลทางธุรกิจ

     1. การที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอม หรือภาษีซื้อต้องห้ามอื่น ๆ มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งได้นั้น ทำให้ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรณีที่สามารถนำภาษีซื้อมาใช้ได้ ซึ่งจะทำให้กำไรจากการขายสินค้าหรือให้บริการลดลง ตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ในตอนที่ 1
     2. กรณีนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง และถูกเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้น ทำให้ต้องเสียภาษีสูงสุดถึง 4 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง หรือไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
     3. กรณีเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว หากผู้ประกอบการที่ถูกประเมินไม่ชำระภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จะถือว่ามีหนี้ภาษีอากรค้าง6 ซึ่งเจ้าพนักงานของกรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล
     4. กรณีผู้ประกอบการถูกประเมินภาษีแล้วไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมิน และหากมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยอีกก็จะต้องฟ้องคดีต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ แม้จะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์หรือฟ้องคดีต่อศาลก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรค้างตามข้อ 3. เช่นเดิม
     5. กรณีผู้ประกอบการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฟ้องคดี แล้วแต่กรณี แต่ยังมิได้ชำระหนี้ภาษีอากรค้างเพราะเห็นว่าคดียังไม่ถึงที่สุด และไม่ต้องการให้เจ้าพนักงานสรรพากรมาเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้างนั้น ผู้ประกอบการจะต้องหาหลักประกันมาวางต่อกรมสรรพากร เพื่อเป็นการทุเลาการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้าง

     จะเห็นได้ว่า ตามข้อ 3-5 อาจส่งผลกระทบต่อรายจ่ายในการประกอบกิจการ ผลกำไร และสภาพคล่องทางการเงินและการบริหารจัดการของธุรกิจได้

     ดังนั้น ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเฉพาะในการซื้อสินค้ามาจากผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใดนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อเป็นอย่างสูง ทั้งการตรวจความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบประวัติการประกอบกิจการ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และพฤติกรรมการประกอบกิจการที่ไม่เข้าลักษณะดังกล่าวข้างต้น

     มาถึงตรงนี้ ทางผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านและผู้ประกอบการจะตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการทำความเข้าใจ และศึกษาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้เข้าใจมากขึ้นเพื่อจะได้ปฏิบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้ หากพลาดนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้โดยไม่รู้ตัวแล้วกรมสรรพากรตรวจสอบพบและให้ถือว่ามีความผิดฐานใช้ใบกำกับภาษีปลอมซึ่งอาจมีผลกระทบดังกล่าวแล้ว จะมีแนวทางแก้ไขเมื่อนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้อย่างไรก็จะมานำเสนอให้ติดตามในตอนต่อไป

   1มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 82/7 มาตรา 82/8 และมาตรา 82/16 ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
   หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น
   หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามส่วน 8”
   2มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ภาษีซื้อในกรณีดังต่อไปนี้ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3”
   (5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 10
   3มาตรา 88 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า “เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ในเมื่อ
   (4) ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อ หรือสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขาย พร้อมทั้งหลักฐานอื่นเพื่อการคำนวณภาษีหรือการเครดิตภาษี”
   4มาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า “ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้
   (7) นำใบกำกับภาษีปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษีให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
   ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม”
   5มาตรา 89 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า “เบี้ยปรับตามมาตรานี้อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”
   ข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 กำหนดไว้ว่า “การงดหรือลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(6) และมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งงดหรือลดได้ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่น”
   6มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า “ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่งตามลักษณะนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้เสียหรือนำส่ง ให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง
   เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้”

วรินทร สะรุโณ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
4 มีนาคม 2564

     หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9785 Email: warinthorns@dlo.co.th