การขอคืนภาษีอากร ตอนที่ 2 ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ

สกาวบุญ คุณสุข
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

     ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องการขอคืนภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไปแล้ว ในตอนนี้เราจึงมาว่ากันต่อในเรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ

     ในการดำเนินการทางภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะของผู้ประกอบกิจการ อาจมีกรณีที่ผู้ประกอบกิจการเสียภาษีเกินไปกว่าที่ต้องเสีย นำส่งภาษีไว้เกิน หรือเสียภาษีไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีมาตรการในการคืนภาษีอากรให้แก่บุคคลดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร โดยผู้เขียนได้สรุปหลักเกณฑ์ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 84 84/1และ 84/2 แห่งประมวลรัษฎากร และการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. ผู้ที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

     ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ผู้ที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้คือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีเหตุให้ขอคืนภาษีได้ดังนี้

     1.1 มีเครดิตภาษีเหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษี
     1.2 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เกิน ผิด หรือ ซ้ำ
     1.3 มีหน้าที่นำส่งภาษีโดยได้นำส่งภาษีไว้เกิน ผิด หรือ ซ้ำ
     1.4 ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้

2. วิธีการขอคืนภาษีอากร

     ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจขอคืนภาษีด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

     2.1 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (“ภ.พ.30”) โดยลงลายมือชื่อในช่อง “การขอคืนภาษี” เพื่อใช้เป็นคำร้องในการขอคืนภาษี ในกรณีดังนี้
          1) กรณีมีภาษีที่ชำระเกินในแต่ละเดือนภาษี และไม่ประสงค์จะใช้เครดิตภาษีในเดือนภาษีถัดไป
          2) กรณีมีภาษีที่ชำระเกินตามการยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติม เนื่องจากยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน1 เช่น ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยที่แสดงยอดซื้อหรือภาษีซื้อไว้ขาด แสดงยอดขายหรือภาษีขายไว้เกิน
     2.2 ยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบคำร้องขอคืนภาษีอากร (“ค. 10”) ในกรณีดังนี้
          1) กรณีมีภาษีที่ชำระเกินในเดือนภาษี แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่อง “การขอคืนภาษี” ตามแบบแสดงรายการภาษี ภ.พ.30 และไม่ได้นำภาษีชำระเกินนั้นไปใช้เครดิตภาษีในเดือนถัดไป
          2) กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำเดือนภาษี โดยที่แสดงภาษีขายไว้เกินและ/หรือแสดงภาษีซื้อไว้ขาด โดยยอดขายและยอดซื้อถูกต้อง
          3) กรณีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีจากยอดรายรับ หรือเป็นผู้นำส่งภาษี ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำเดือนภาษีและชำระภาษีไว้ซ้ำ

3. กำหนดเวลายื่นขอคืนภาษี

     ในการยื่นคำร้องขอคืนภาษี มาตรา 84/1 และ 84/2 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ดังนี้

     3.1 กรณีการขายสินค้าหรือการให้บริการ
          1) การขายสินค้าหรือการให้บริการซึ่งผู้ประกอบการอาจยื่นคำร้องขอคืนภาษีพร้อมกับภ.พ.30 ตามข้อ 2.1 ได้ แต่ไม่ได้ยื่น ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบค.10 ได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น2
          2) การขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีอื่น เช่น บริษัท A เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ขายสินค้าและได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว แต่มีเหตุที่จะต้องได้ภาษีคืนเพราะบริษัท A ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้านั้น กรณีนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ชำระภาษี3
     3.2 กรณีนําเข้า ผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งตามกฎหมายศุลกากรหรือเป็นคดีในศาล ให้ยื่นคําร้องภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําวินิจฉัยข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นหนังสือ หรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลซึ่งคดีถึงที่สุด4

การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ

     สำหรับการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/11 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีซึ่งได้ชำระภาษีไว้เกินหรือผิด หรือซ้ำ หรือผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ค.10

     ในตอนสุดท้าย ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องการขอคืนเงินอากร/อากรแสตมป์ โดยจะมีเนื้อหา และหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างนั้น ท่านสามารถติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ

 


3มาตรา 84/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
4มาตรา 84/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร