• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกุมภาพันธ์ 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 98 กุมภาพันธ์ 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545
3. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ.2558
4. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของของบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 587) พ.ศ.2558
5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC)
6. กำหนดหลักเกณฑ์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้น 1.15 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง
7. หลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
8. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการรับมรดกให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติจากพายุโซนร้อนปาบึก

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน
2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561
ระหว่าง             บริษัท ว. จำกัด                   โจทก์
กรมสรรพากร                     จำเลย
เรื่อง                 การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการที่มีทั้งกิจการประเภทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 670) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.5 เท่าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยจ่ายผ่านบัตรดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท หรือมีเงินได้ในปีที่ล่วงมาแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของลูกจ้างทั้งหมดในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยใช้สิทธิหักรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2562
อนึ่ง หากลูกจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐข้างต้นทำงานหลายแห่ง ให้บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ทำงานก่อนได้รับสิทธิ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2GWobhK

2. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 671) พ.ศ. 2561 แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) ดังนี้
2.1 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง”
2.2 คนต่างด้าวที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ต้องทำงานประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 8 หรือมาตรา 9 แล้วแต่กรณี โดยให้ได้รับสิทธิระหว่างการทำงานเป็นเวลาติดต่อกันไม่เกิน 4 ปี
2.3 ค่าสิทธิที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ต้องเป็นค่าสิทธิที่ได้รับจากจากวิสาหกิจในเครือ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนา ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
2.4 สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องจดแจ้งเป็น สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2561
2.5 เพิ่มเติมให้สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563”
2.6 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับ(๓) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำขึ้นในประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Wk9wAD

3. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ.2558
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 672) พ.ศ.2561 แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) โดยให้สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ.2558 ข้อ 4 ของมาตรา 9 จะต้องยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศจากอธิบดี ภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2TxW1ee

4. แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของของบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 587) พ.ศ.2558
          พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 673) พ.ศ.2561 แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ของของบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 587) พ.ศ.2558 ข้อ 3 ของมาตรา 8 โดยให้บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) จะต้องยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศจากอธิบดี ภายในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2561
          ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
          ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2QtIHpd

5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC)
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 674) พ.ศ. 2561 กำหนดให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านบริหาร ให้บริการด้านเทคนิค ให้บริการสนับสนุน หรือให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ เป็นต้น สามารถยื่นคำร้องขอ พร้อมกับแผนธุรกิจที่แสดงถึงการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกและรายชื่อวิสาหกิจในเครือในประเทศไทยและในต่างประเทศ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 15 รอบระยะเวลาบัญชี ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ของ IBC คงเหลือจัดเก็บร้อยละ 3, 5 หรือ 8 แล้วแต่กรณี
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ
3. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการให้บริการด้านการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือ
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้ที่เป็นเงินปันผลและดอกเบี้ยที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ได้รับจาก IBC
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2Cfdd0V

6. กำหนดหลักเกณฑ์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้น 1.15 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง
          ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 9 กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้น 1.15 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 665) พ.ศ. 2561 ดังนี้
          6.1 กรณีบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องดำเนินการ ดังนี้
                    6.1.1 จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจ้างลูกจ้างรายวันที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้และเก็บรักษารายงานดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
                    6.1.2 สามารถแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง
          6.2 บุคคลธรรมดามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากรโดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น
          ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Fc7wVM

7. หลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 10 กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 663) พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. กรณียกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้จะต้องบริจาคให้แก่สถานพยาบาลฯเป็นเงินเท่านั้น
2. กรณียกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาลฯ จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Rq6aNz

8. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการรับมรดกให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติจากพายุโซนร้อนปาบึก
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 1 กำหนดให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีการรับมรดกให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติติจากพายุโซนร้อนปาบึกในบางจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย อาทิเช่น ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ปัตตานี พัทลุง เป็นต้น โดยขยายระยะเวลาจากเดิมเดือนมกราคม 2562 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2FZTKoM

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน
          เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน โดยมีกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
          1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ให้การสนับสนุนต้องลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” และดำเนินการตามแนวทางของโครงการ
          2. ต้องสนับสนุนโครงการเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าหมู่บ้านละ 100,000 บาท โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถให้การสนับสนุนได้มากกว่า 1 หมู่บ้าน
          3. ผู้บริจาคจะต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากกรมป่าไม้ โดยระบุว่า “เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” ชื่อป่าชุมชนที่ให้การสนับสนุนและปีที่ดำเนินการ” ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกความร่วมมือโครงการที่ได้ร่วมกันลงนามไว้แล้ว
          ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2DzBtwV

          2. ภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา ให้หักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่บริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายนั้น ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2DzBtwV

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561
ระหว่าง       บริษัท ว. จำกัด       โจทก์
กรมสรรพากร         จำเลย
เรื่อง           การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของผู้ประกอบการที่มีทั้งกิจการประเภทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการซึ่งมีทั้งโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและโครงการที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน แล้วยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ซึ่งคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์จากการได้รับส่งเสริมการลงทุนแยกแต่ละโครงการต่างหากจากกันเป็นรายโครงการตามแนวทางของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แต่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินและปรับปรุงผลกำไรขาดทุนของโจทก์ โดยการคำนวณสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนรวมทุกโครงการเข้าด้วยกัน

ประเด็น : วิธีการคำนวณภาษีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษา : พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเป็นกฎหมายที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยเพียงแต่กำหนดให้ยกเว้นภาษีอากรแต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ด้วย กรณีจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี โดยใช้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการคำนวณตามประมวลรัษฎากรเป็นหลัก ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนกี่โครงการก็ตาม การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องถือว่าทุกโครงการของโจทก์เป็นหน่วยภาษีเดียวกันที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงต้องนำผลประกอบการทั้งหมดมารวมกัน ได้แก่ ผลประกอบการของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนทุก ๆ โครงการและผลประกอบการของกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษี วิธีการคำนวณภาษีของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจากตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า “บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน”
มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ได้รับส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ซึ่งต้องมีกำหนดเวลาไม่เกิน 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น”
และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี คณะกรรมการอาจอนุญาตให้ผู้ได้รับส่งเสริมนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น”
จึงจะเห็นได้ว่า แม้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนจะเป็นบทบัญญัติเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไว้ก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไว้แล้ว การคำนวณกำไร ขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินนิติบุคคลจึงต้องใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั่วไป ดังนั้น ในการทำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะได้รับส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ และไม่ว่าจะมีโครงการลงทุนโครงการเดียวหรือหลายโครงการก็ตาม หากเป็นโครงการหรือกิจการที่อยู่ภายใต้นิติบุคคลเดียวกันแล้ว ในทางกฎหมายภาษีย่อมถือว่าเป็นหน่วยภาษีเพียงหนึ่งหน่วยเท่านั้น ซึ่งจะต้องคำนวณกำไร ขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยนำรายได้ของกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งได้รับหรือพึงได้รับทั้งหมดหักด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้นตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760