จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 92 สิงหาคม 2561
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. แก้ไขหลักเกณฑ์การยกเว้นเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ
2. หลักเกณฑ์การหักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำหน่วยงานของรัฐเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
3. กำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พัก
เพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง
ข่าวภาษี
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1104/2561
ระหว่าง บริษัท ฮ โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. แก้ไขหลักเกณฑ์การยกเว้นเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 339 (พ.ศ. 2561) กำหนดให้แก้ไขหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (38) โดยยกเว้นเงินได้ดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการฝากเงินในประเทศโดยเพิ่มการยกเว้นผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ.2546 และต้องยื่นภายในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป เป็นจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดปีภาษี
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2NIln65
2.หลักเกณฑ์การหักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำหน่วยงานของรัฐเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 กำหนดให้กระทรวง ทบวง กรม สำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ แล้วนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากร ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2zYRTz9
3. กำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 กำหนดรายชื่อเขตพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรองโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามรายชื่อเขตพื้นที่ท่องเที่ยวแนบท้ายประกาศดังกล่าว ให้เป็นเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรอง เช่น อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา อำเภอลำทับ ในจังหวัดกระบี่ และ อำเภอบ้านลาด อำเภอหนองหญ้าปล้อง ในจังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ
ทั้งนี้ ให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2NGeFxE
ข่าวภาษี
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. กำหนดให้มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2mFqGI1
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … กรณีมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง ให้แก่
2.1 บุคคลธรรมดา ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ทั้งนี้ ในปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
2.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวมกันไม่เกินหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จากhttps://bit.ly/2OhbFsO
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … กรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม วิธีการส่งหมายเรียกหรือหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร อัตราภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม การยื่นแบบแสดงรายการภาษี และการชำระภาษีของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จากhttps://bit.ly/2LiB1sl
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1104/2561
ระหว่าง บริษัท ฮ โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าจากบริษัท อ ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในเดือนภาษีตุลาคม 2551 และเดือนภาษีมกราคม 2552โจทก์ได้นำเงินสนับสนุนการประชาสัมพันธ์สินค้าที่โจทก์ได้รับไปรวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่าเงินสนับสนุนเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าที่โจทก์ได้รับ ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายหรือให้บริการจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(8)(10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงเป็น ผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเมื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ปรากฏว่าในเดือนภาษีดังกล่าวมีภาษีสุทธิชำระเกินอยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังคงต้องรับผิดเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่รับผิดในเดือนภาษีตุลาคมและเดือนภาษีมกราคม เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว นอกจากนี้การที่โจทก์ออกใบกำกับภาษีขายดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมาย เชื่อได้ว่าโจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นอย่างดี จึงให้งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในเวลาต่อมา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า เงินที่โจทก์ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือเพื่อทำการประชาสัมพันธ์สินค้าไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีจากการขายสินค้าและการให้บริการแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 86/13 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ความเห็น
ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้นด้วยเหตุว่า ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าและการให้บริการตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายสินค้าและการให้บริการ ซึ่งมูลค่าของฐานภาษีให้รวมถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงิน ทั้งนี้ตามมาตรา 79 ประกอบ มาตรา 77/1 (19) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินที่โจทก์ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อ เพื่อทำการประชาสัมพันธ์สินค้า ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้เปล่าไม่มีข้อผูกพันที่โจทก์จะต้องกระทำการใด ๆ ตอบแทน ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีการขายสินค้าและการให้บริการแต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี การที่โจทก์ออกใบกำกับภาษีกรณีเงินสนับสนุนดังกล่าว ทั้งลงรายงานภาษีขายและนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย การที่โจทก์ต้องรับผิดจากการกระทำดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ทิพย์ระวี ขุดขำ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: budhimak@dlo.co.th
บริการกฎหมายภาษีอากร :
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :