• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 68 เดือนสิงหาคม 2559

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 614) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศที่ได้ส่งมอบและชำระราคาแล้วก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ แต่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากทางราชการสั่งระงับไว้ ซึ่งทำให้การจดทะเบียนและการทำนิติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/GWwiFs

ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อฯ, ศิลปะและวัฒนธรรม

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 615) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค 2 เท่า เมื่อบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุ หรือกองทุนโบราณคดี ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ดังนี้

– สำหรับบุคคลธรรมดาต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

– สำหรับนิติบุคคลบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/KZ3bzF

ขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษา

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 616) พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาค 2  เท่า เมื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษา แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนกวดวิชา ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2561  ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเดิมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 558) พ.ศ. 2556 เคยมีผลและสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/BtX7RT และ http://goo.gl/e7gWz0 และ http://goo.gl/qVHMZr

เปลี่ยนหลักเกณฑ์การถือ LTF จาก 5 ปี เป็น 7 ปี

กฎกระทรวง ฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สำหรับการซื้อ LTF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งบุคคลธรรมดาต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนนั้นไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน (เดิม 5 ปีปฏิทิน) จึงจะได้รับยกเว้นเงินได้ ดังนี้

1) เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อ LTF

2) เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขาย LTF

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/f8TbZK

ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อซื้อสินค้า OTOP

กฎกระทรวง ฉบับที่ 318 (พ.ศ. 2559) กำหนดให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้า OTOP ในระหว่างวันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2559 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1) เป็นสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองและลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

2) จ่ายค่าสินค้า OTOP ให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

3) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงิน (ฉบับที่ 272)

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/pPUFLt และ http://goo.gl/uBveJl

ขยายระยะเวลาขอคืนค่าอากรแสตมป์ จนถึง 31 กรกฎาคม 2559

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาขอคืนค่าอากรแสตมป์จากการปิดอากรแสตมป์ลงบนตราสารที่ต้องชำระค่าอากรเป็นตัวเงิน ได้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 สำหรับตราสารดังนี้

1) ตราสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ ที่มีค่าเช่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

2) ตราสารจ้างทำของที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2559 จึงจะขยายระยะเวลาให้ขอคืนค่าอากรแสตมป์ที่ปิดลงบนตราสารที่ต้องชำระค่าอากรเป็นตัวเงิน

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/tWURrM และ https://goo.gl/Gbn6yq

 

ข่าวภาษี

กระทรวงการคลังสั่งสรรพากรขยายฐานการจัดเก็บภาษีจากบริษัทนอมินี และผู้ประกอบการอี – คอมเมิร์ซ

ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าได้สั่งให้กรมสรรพากรไปตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทนอมินีทั้งหมดในทุกภาคธุรกิจ โดยเริ่มตรวจสอบการเสียภาษีของนอมินีบริษัทท่องเที่ยวทั้งหมดก่อน

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการเก็บภาษีธุรกิจอี – คอมเมิร์ซ (e – Commerce) เพื่อร่วมหาแนวทางการเก็บภาษีใหม่ เนื่องจากยังพบว่ามีการรั่วไหลมาก ทำให้มีการเก็บภาษีได้น้อย

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/qzuA26

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 13986/2558

ระหว่าง             บริษัท ฮ.                                                                       โจทก์

กับ                   กรมสรรพากร                                                                 จำเลย

เรื่อง                การจำหน่ายเงินออกจากประเทศไทย(ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ)

การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กฎหมายกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทย จะต้องหักภาษีจากเงินที่จำหน่ายออกไปในอัตราร้อยละ 10 แล้วนำส่งภาษีภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จำหน่ายเงินกำไร ตามประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2545 อันแสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เมื่อมีการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยเมื่อใด ภาระภาษีย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น

การที่ลูกค้าได้โอนเงินค่าบริการให้แก่โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรงหลายครั้ง เงินค่าบริการที่จำหน่ายออกไปมีส่วนของกำไรหรือถือว่าเป็นกำไรรวมอยู่ด้วย จึงต้องถือว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นกำไรออกไปจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สาขาของโจทก์ในประเทศไทยจึงต้องหักภาษีจากจำนวนเงินที่ได้จำหน่ายออกไป โดยถือว่าวันที่ลูกค้าโอนเงินค่าบริการให้แก่โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาในแต่ละครั้งเป็นวันที่สาขาของโจทก์จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตาม มาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

ในกรณีที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินค่าบริการที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์ในแต่ละครั้งมีส่วนที่เป็นกำไรที่จำหน่ายออกไปเป็นจำนวนเท่าใด จึงเห็นควรให้นำเงินค่าบริการที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์ในต่างประเทศตลอดปี 2545 จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยถือเป็นกำไรที่จำหน่ายออกไป 420 ล้านบาท (ร้อยละ 21 % ของรายได้) แล้วนำค่าบริการที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์ที่ต่างประเทศในแต่ละเดือนมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อหาเงินกำไรที่สาขาจำหน่ายออกไปในแต่ละเดือน จากนั้นจึงนำมาหักภาษีในอัตราร้อยละ 10 และนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมยื่นแบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) ต่อไป

           หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th