จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 64 เดือนเมษายน 2559
กฎหมายใหม่ล่าสุด
ขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯบางประเภทให้แก่นิติบุคคลที่ได้จดแจ้งต่อกรมสรรพากร
ตามที่ได้มีพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 ยกเว้นการตรวจสอบด้านภาษีบางประการให้แก่นิติบุคคลที่จดแจ้งตามเงื่อนไขในพระราชกำหนดดังกล่าวต่อกรมสรรพากรนั้น
เพื่อให้นิติบุคคลที่จดแจ้งสามารถปรับปรุงรายการทางบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ รมว.คลังได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ ออกไปโดยอนุญาตให้ยื่นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559
- แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.36) (แบบ ภ.พ.30) (เฉพาะการยื่นเพิ่มเติม)
- แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54)
- แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (แบบ ภ.ธ.40)
- แบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารบางลักษณะ (แบบ อ.ส. 4 ก และแบบ อ.ส. 4 ข)
ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2558 ถึงมีนาคม 2559 โดยไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/gkw8ce และ http://goo.gl/e5Ba9e
กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีการรับมรดก
อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการรับมรดก (ฉบับที่ 4) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีการรับมรดกกำหนดให้ผู้ต้องเสียเบี้ยปรับอาจของดหรือลดเบี้ยปรับได้ โดยให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานประเมินหากเจ้าพนักงานยังไม่ได้ออกหนังสือแจ้งการประเมิน แต่หากได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วให้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการอุทธรณ์
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการของดหรือลดเบี้ยปรับต้องเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีฯกำหนดและให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/vZuUeG
ข่าวภาษี
ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560
ครม.มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยให้สิทธิผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังปรับปรุงขั้นเงินได้ บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/zZYnRn
คลังเล็งหาทางขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
กระทรวงการคลังหารือกรมสรรพากรถึงแนวทางการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้ประเทศมีรายได้ในการพัฒนาประเทศ โดยในปัจจุบันรัฐปรับลดจากอัตรา 10 % เหลือ 7% ทั้งนี้ หากรัฐกลับไปเรียกเก็บในอัตรา 10% จะส่งผลให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 200,000 ล้านบาท ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนมากจนเกินไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/hH6pOs
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 2470/2552
ระหว่าง บริษัท อ. โจทก์
กับ บริษัท ซ. กับพวก จำเลย
เรื่อง สัญญาจ้างทำของ
แม้ว่ากรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ลงลายมือชื่อแต่มิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้รับเอางานตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมาทำ ย่อมถือได้ว่ากรรมการคนนั้นเป็นตัวแทนของโจทก์ เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าสัญญาต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้นการแต่งตั้งตัวแทนจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม
จากคดีข้างต้น มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่าสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยตามฟ้องเป็นสัญญาประเภทใด ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น”
ซึ่งสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยนั้น ผู้ว่าจ้างประสงค์จะให้ผู้รับจ้างดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้รับจ้างต้องจัดพนักงานคนใดมาทำหน้าที่แสดงว่าผู้ว่าจ้างต้องการผลสำเร็จของงานคือความปลอดภัยเป็นสำคัญ นอกจากนี้ หากผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ว่าจ้างมีแต่เพียงสิทธิในการเรียกค่าเสียหาย แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปลงโทษ ว่ากล่าว ตักเตือน กับพนักงานของผู้รับจ้างได้ สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยจึงเข้าลักษณะของสัญญาจ้างทำของ
สำหรับในแง่ของกฎหมายภาษีอากรนั้น หากเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของและได้จัดทำเป็นหนังสือแล้ว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 103 และ 104 ประกอบบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 4 กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้เสียค่าอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทของค่าจ้างทุกๆ 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาท โดยอาจเลือกเสียได้ 2 วิธีคือ 1. ใช้อากรแสตมป์ปิดทับและขีดฆ่า หรือ 2. ชำระอากรเป็นตัวเงินก่อนลงนามในสัญญาหรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันลงนามในสัญญานั้น
อย่างไรก็ดี สำหรับสัญญาจ้างทำของที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2558 เป็นต้นไปนั้น ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ข้อ 2 (3) กำหนดว่า สัญญาจ้างทำของที่มีค่าจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียอากรโดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้รับจ้างไม่อาจเสียค่าอากรโดยวิธีนำอากรมาปิดทับและขีดฆ่าอีกต่อไป
อนึ่ง หากการว่าจ้างดังกล่าวเพียงแต่ตกลงกันด้วยวาจา ย่อมไม่ต้องเสียอากรแสตมป์เพราะคู่สัญญาไม่ได้กระทำตราสารอันจะต้องเสียอากรแสตมป์ตามความหมายของประมวลรัษฎากรมาตรา 103 และ 104 อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าหากคู่สัญญาซึ่งได้ตกลงจ้างทำของด้วยปากเปล่ากันโดยไม่มีหนังสือกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโต้เถียงถึงข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้และอาจเกิดข้อพิพาทได้ง่าย ซึ่งหากจะต้องฟ้องร้องต่อศาลแล้วอาจจะเกิดปัญหาถึงการจะนำสืบถึงข้อตกลงดังกล่าวว่ามีหรือไม่มีข้อตกลงใดย่อมเป็นการยาก ดังนั้น เมื่อเทียบการประหยัดค่าอากรแสตมป์อาจจะไม่คุ้มกันกับความเสียหายที่ท่านอาจได้รับในอนาคตก็ได้จึงควรพิจารณาประเด็นนี้ให้รอบคอบด้วย
นายธรดล จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email: budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th
บริการกฎหมายภาษีอากร :
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
เป็นต้น
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :