จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 61 เดือนธันวาคม 2558
ขอท่านสุขทั่วหล้า เจริญรุ่งเรือง
กิจการงานประเทือง พรั่งพร้อม
สำเร็จล่วงลงได้ โดยง่ายดายนา
ธรรมนิติวอนให้ ท่านไร้ภัยพาล
พุทธิมา เกิดศิริ ประพันธ์
กฎหมายใหม่ล่าสุด
กำหนดเงินได้บางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ
รมว.คลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 309 (พ.ศ.2558) กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
1. เงินได้จากส่วนแบ่งกำไรจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมซึ่งได้มาโดยทางมรดกหรือจากการให้โดยเสน่หา
2. ดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/aPML9f
กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประกอบธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 591) พ.ศ.2558 ลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น
อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 262) กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1. กำหนดความหมายของคำว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” “รายได้จากการผลิตสินค้า” “รายได้จากการให้บริการ” และ “รายได้จากกิจการอื่น”
2. กำหนดให้นิติบุคคลรายใดที่ประสงค์ใช้สิทธิต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยยื่นคำขอที่สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรมสรรพากรหรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่แล้วแต่กรณี
3. กำหนดให้นิติบุคคลตามข้อ 2 ยื่นแผนธุรกิจเพื่อประกอบการพิจารณาโดยมีรายละเอียด เช่น ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับนิติบุคคล รายละเอียดธุรกิจที่ขอจดแจ้งการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
4. การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของนิติบุคคลที่ขอใช้สิทธิเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร
5. กรณีนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งได้รับสิทธิลดอัตราภาษีและกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี ซึ่งมีรายได้จากทั้งสองกิจการ หากมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับกิจการใด ให้คงผลขาดทุนสุทธิไว้สำหรับกิจการนั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/ye4WRR
ข่าวภาษี
สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณี FTA ไทย-ชิลี มีผลใช้บังคับแล้ว
รมว.กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตามที่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและชิลีมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นั้น ความตกลงดังกล่าวส่งผลให้สินค้าของชิลีและไทยร้อยละ 90 และมูลค่าการนำเข้าสินค้าลดภาษีเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 10 ทั้งสองประเทศจะทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในเวลา 8 ปี
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/9nwR3Q
คาดการณ์ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปภาษีเปิดเผยว่า ได้มีการประชุมร่วมกับกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะพิจารณาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/7HYMxd
จัดเก็บรายได้เดือนแรกได้ต่ำกว่าเป้า
โฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 นั้น รัฐเก็บรายได้สุทธิ 165,304 ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 1,212 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.7 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษียาสูบเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/3djgMP
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 12846/2557
ระหว่าง บริษัท อ โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปัญหาว่าโจทก์ถูกจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีธันวาคม 2547 และเดือนภาษีธันวาคม 2549 เนื่องจากโจทก์ขายสินค้าและแสดงรายรับไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เห็นว่ามาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า และตามมาตรา 79/3(1) กำหนดให้มูลค่าฐานภาษีกรณีขายสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
การที่จำเลยวางแนวปฏิบัติในการกำหนดมูลค่าฐานภาษีสินค้าของโจทก์ว่า จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรประเมิน เพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าบวกด้วยอากรขาเข้าของกรมศุลกากร โดยวิธีดังกล่าวเป็นราคาเฉลี่ยที่คำนวณโดยการเก็บสถิติราคาสินค้าจากผู้นำเข้าทุกราย แนวปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดราคาที่มีเหตุผล นอกจากนี้โจทก์เองก็เคยยินยอมชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามวิธีดังกล่าว ซึ่งโจทก์ยังได้เคยนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระมาถือเป็นภาษีซื้อและใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวทางการคำนวณของเจ้าพนักงาน ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดที่แท้จริง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่าการขายสินค้าของโจทก์เป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม
จากคดีข้างต้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการขายเครื่องยนต์เก่าจากการนำเข้าของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ กรณีนี้ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากรให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์การคำนวณราคาตลาดกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องใช้แนวทางปฏิบัติ ซึ่งจำเลยได้วางแนวปฏิบัติว่าต้องเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรประเมิน เพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าบวกด้วยอากรขาเข้าของกรมศุลกากร ดังนั้น หากโจทก์ตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาที่กล่าวข้างต้นย่อมมีแนวโน้มว่าจะเป็นการขายสินค้าโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งอาจถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากแสดงภาษีขายขาดไปได้และเมื่อเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดแล้วอาจเป็นผลให้เจ้าพนักงานสรรพากรประเมินให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากรและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกโสดหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี หากโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ตนตั้งขายนั้นแม้ว่าจะต่ำกว่าราคาตลาดแต่มีเหตุอันสมควรโจทก์ก็อาจไม่ต้องรับผิด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เช่น กรณีการขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าทุนในภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงโดยบริษัทผู้ขายเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ประเภทนั้นประเภทเดียวและมีความจำเป็นต้องขายรถยนต์เพื่อนำเงินสดมารักษาสภาพคล่องของบริษัท กรณีดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นการขายทรัพย์สินที่ต่ำกว่าราคาตลาดก็ถือว่าเป็นการขายโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5639/2550)
นายธรดล จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email: budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th
บริการกฎหมายภาษีอากร :
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
เป็นต้น
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :