• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 57 เดือนสิงหาคม 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

กฎหมายภาษีการรับมรดก

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพรบ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีสำหรับทรัพย์มรดกที่ได้รับเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยเสียในอัตราร้อยละ 10 แต่ในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียในอัตราร้อยละ 5

ในการนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นโดยมีหลักเกณฑ์การแก้ไขที่สำคัญคือ เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาตามประเพณีได้รับยกเว้นเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านหรือยี่สิบล้านบาทแล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/NL2uKo และ http://goo.gl/lhFjKT

เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีสำหรับโรงเรียนเอกชน

                ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 ยกเว้นภาษีเงินได้และเงินปันผลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนนั้น

ครม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 588) และ (ฉบับที่ 589) พ.ศ. 2558 แก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และเงินปันผลที่ได้กล่าวข้างต้นและรวมถึงกรณีของมูลนิธิหรือสมาคมด้วยว่าไม่ให้รวมถึงเงินได้หรือเงินปันผลที่ได้จากโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชา

ในการนี้ รมว.กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง (ฉบับที่ 307) พ.ศ. 2558 แก้ไข เพิ่มเติม ข้อ 2(1) และ (37) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาข้างต้นว่า เงินได้ เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เว้นแต่เงินได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชา นอกจากนี้ยังได้แก้ไขข้อ 2(57) กรณีบุคคลธรรมดาที่ได้รับยกเว้นเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/fboe5H และ http://goo.gl/Jh7YcE

สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการและโรงเรียนเอกชน

ครม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 590) พ.ศ. 2558 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการโรงเรียนเอกชน ดังนี้

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดิน ส่วนควบของที่ดิน รวมทั้งทรัพย์สินใดๆแก่โรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยไม่มีค่าตอบแทน
  2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ กรณีโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนซึ่งได้โอนทรัพย์สินตามข้อ 1. คืนแก่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชน เจ้าของเดิม หรือทายาท เมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการโดยไม่มีค่าตอบแทน
  3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่ผู้บริจาคที่ดิน ส่วนควบของที่ดิน ให้แก่โรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยผู้บริจาคต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี
  4. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่โรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนซึ่งได้โอนทรัพย์สินตามข้อ1.คืนแก่ผู้บริจาคหรือทายาทเมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการโดยไม่มีค่าตอบแทน
  5. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชน เจ้าของเดิม ผู้บริจาค หรือทายาทสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการรับโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนจากโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

อนึ่งการโอนและการรับโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาข้างต้นกำหนด

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/f2kgfq

กำหนดหลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้กรณีได้รับเงินอื่นนอกจากค่าเช่า

                รมว.กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลังให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาสามารถเฉลี่ยเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม ฯลฯ ตามจำนวนปีของอายุการเช่าได้โดยผู้ให้เช่าต้องยื่นรายการพร้อมชำระภาษีเงินได้ที่เฉลี่ยนั้นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป อย่างไรก็ดี หากผู้ให้เช่ารายใดยื่นไม่ทันกำหนดเวลาก็ยังคงมีสิทธิเฉลี่ยเงินนั้นได้แต่ต้องเสียเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้เสียภาษีรายใดที่ไม่ได้ยื่นรายการให้เจ้าพนักงานเรียกเก็บตามมาตรา 60 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรต่อไป

ทั้งนี้ ให้ใช้กับค่าเช่าที่ได้รับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งต้องยื่นรายการในปี 2558 เป็นต้นไป

ในการนี้ กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.151/2558 กำหนดให้ผู้ให้เช่าที่ไม่ประสงค์จะเฉลี่ยเงินกินเปล่าต้องนำเงินกินเปล่าที่ได้รับทั้งจำนวนไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือในกรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะเฉลี่ยให้นำเงินกินเปล่าตามส่วนที่เฉลี่ยนั้นยื่นแบบ ภ.ง.ด.93

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/zw0yk2 และ http://goo.gl/d3MQNB

แก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีกรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

                อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) แก้ไขหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169) ซึ่งเป็นเรื่องการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กรณีบุคคลธรรมดาซื้อหน่วยลงทุน LTF โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขว่าบุคคลธรรมดาที่ซื้อหน่วยลงทุน LTF ไม่ว่ากองเดียวหรือหลายกองต้องซื้อจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ซึ่งเดิมกำหนดให้คิดจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/G3zbTD

แก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีกรณีขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

                อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 258) แก้ไขหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่องเงื่อนไขของการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กรณีขายหน่วยลงทุน RMF ที่จะได้รับยกเว้นภาษีให้คิดจากฐานเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี ซึ่งเดิมกำหนดให้คิดจากฐานของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/BAX3XT

แก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีกรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

                อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 259) แก้ไขหลักเกณฑ์ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่องเงื่อนไขของการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กรณีซื้อหน่วยลงทุน RMF ที่จะได้รับยกเว้นภาษีให้คิดจากฐานเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี ซึ่งเดิมกำหนดให้คิดจากฐานของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปี

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/nwgbmU

ข่าวภาษี

รัฐบาลขยายเวลาคง VAT 7% อีก 1 ปี

รมว.กระทรวงการคลังเปิดเผยว่าที่ประชุมครม.มีมติให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปีเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่ดีและรัฐบาลต้องการกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศบริโภคมากขึ้น

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/HQ0k47

คตง.ตั้งสำนักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้

                ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ โดยหน่วยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งในการลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการคอร์รัปชั่นอีกด้วย

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/AVGYzK

ข่าวกฎหมายที่น่าสนใจ

บังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยมีการแก้ไขที่น่าสนใจคือ กำหนดความผิดและอัตราโทษในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบเพื่อให้ทำหรือไม่กระทำการใดในตำแหน่งต้องระวางโทษจำคุก จำคุกตลอดชีวิตและปรับ หรือประหารชีวิต

ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/eXmHbM

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 15793/2557

ระหว่าง                    บริษัท ผ จำกัด                                   โจทก์

กับ                          กรมสรรพากร                                     จำเลย

เรื่อง                       การรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ

การที่โจทก์ได้รับค่าชดเชยค่าก๊าซจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้ว่าจะได้รับในขั้นตอนการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อนโจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนย่อมมีผลเพียงว่ารายได้ดังกล่าวไม่เป็นรายได้จากกิจการที่โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น แต่ยังคงถือเป็นรายได้จากกิจการที่โจทก์กระทำตามมาตรา 65 วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างโจทก์และกฟผ.มีข้อกำหนดว่า ในขั้นตอนการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเมื่อโจทก์ถูกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เรียกเก็บค่าเชื้อเพลิง กฟผ.จะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ลงบันทึกการซื้อก๊าซจากปตท.จำนวน 35,768,080.93 บาท ตั้งแต่ปี 2542 ต้องถือว่าเงินชดเชยนี้มีความแน่นอนว่าโจทก์มีสิทธิได้รับตั้งแต่ปี 2542 ส่วนวิธีการและกำหนดเวลาวางบิลที่โจทก์อ้างว่าเรียกเก็บจากกฟผ.ในปี 2543 ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีอากรตามมาตรา 65 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากรได้ ดังนั้น การลงบันทึกรับรู้รายได้ของโจทก์ในปี 2542 จึงต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ให้ถูกต้องได้

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การรับรู้รายได้ค่าชดเชยค่าก๊าซที่โจทก์ได้รับจากกฟผ.เกิดขึ้นในปีใด ในเรื่องนี้มาตรา 65 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากรกำหนดว่า ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งในแง่ของการรับรู้รายได้ ให้นำรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

จากหลักกฎหมายข้างต้นคำว่าเกณฑ์สิทธิหมายถึงสิทธิเรียกร้องที่มีความแน่นอนซึ่งคู่กรณีอีกฝ่ายต้องชำระหนี้ (เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3543/2542 และคำพิพากษาฎีกาที่ 4808/2546) โดยในเบื้องต้นต้องพิจารณาจากเงื่อนไขของสัญญาเสียก่อนว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสิทธิเรียกร้องต่อกันอย่างไร เมื่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีข้อกำหนดว่ากฟผ.จะชำระเงินจำนวนเท่ากับค่าก๊าซซึ่งโจทก์ใช้ไปเพื่อการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ได้บันทึกการซื้อก๊าซจากปตท.ในปี 2542 ต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้กฟผ.ใช้เงินค่าก๊าซคืนตั้งแต่นั้น ส่วนโจทก์จะได้รับเงินค่าก๊าซจริงเมื่อใดนั้นไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องให้ใช้เงินค่าก๊าซที่มีมาตั้งแต่ปี 2542 เปลี่ยนแปลงไป กรณีต้องถือว่าโจทก์มีรายได้จากค่าก๊าซตั้งแต่ปี 2542 มิใช่ปี 2543 ที่โจทก์ได้รับค่าก๊าซจริง

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th