สรรพากรเจอศึกหนักในการจัดเก็บรายได้ หลังภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับลดลง ล่าสุดรายได้ 8 เดือนแรกงบปี"56 โตแค่ 2.72%
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2556 ว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้ได้จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือ 2.72% ในจำนวนนี้ เป็นรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 2.08 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10.93% ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ประมาณ 2.89 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.93 หมื่นล้านบาท หรือ 6.27% ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 4.69 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3.2 พันล้านบาท หรือ 0.69%
นอกจากนี้ ยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จัดเก็บได้จำนวนประมาณ 1.04 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.78 หมื่นล้านบาท หรือ 20.63% ภาษีธุรกิจ
เฉพาะจัดเก็บได้ 3.16 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5.6 พันล้านบาท หรือ
21.78% อากรแสตมป์ 8.46 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.47 พันล้านบาท หรือ
21.17% และ รายได้อื่นๆ 183 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 24 ล้านบาท หรือ
15.70%
ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม ปรากฏว่า จัดเก็บได้ 2.9 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือ 4.28% ส่วนสำคัญเป็นผลจาก ยอดการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคล ซึ่งปรากฏยอดการจัดเก็บรายได้จำนวน 1.14 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2.5 หมื่นล้านบาทหรือ 18.03% ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จัดเก็บได้ 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.5 พันล้านบาท หรือ 7.56%
"ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลง เป็นผลจากการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือ 23% แต่เราก็มีรายได้ตัวอื่นมาทดแทน
ทำให้ยอดรวมการจัดเก็บ 8 เดือน ยังเกินกว่าเป้าหมาย 2.9 หมื่นล้านบาท และ
เชื่อว่า ทั้งปีเรายังจะจัดเก็บได้ตามประมาณการ ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงนั้น เป็นเพราะภาษีที่เก็บจากการนำเข้าลดลง แต่ภาษีที่เก็บจากการบริโภคในประเทศยังเป็นไปตามเป้าหมาย"
นายสาธิต กล่าวว่า กรมสรรพากรยังเหลือศึกหนักจากการจัดเก็บรายได้นิติบุคคลในครึ่งปีหลัง เพราะเป็นช่วงของอัตราภาษีที่
ลดลงเหลือ 20% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา
กรมฯได้ใช้นโยบายในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการล่วงหน้า
เพื่อประเมินรายได้ทั้งปีของผู้ประกอบการ โดยนำรายได้ของปีก่อนๆมาอ้างอิง
ซึ่งจะทำให้กรมฯสามารถรู้ยอดรายได้ที่จะเข้ามาว่า จะมีจำนวนเท่าใด
เมื่อเราตามติดอย่างใกล้ชิด จะทำให้การยื่นภาษีที่ผิดปกติมีน้อยลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ