• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ข่าวดี ! สรรพากร เล็งแก้ไขประมวลรัษฎากร เปิดช่องให้ภริยาแยกยื่นเสียภาษี ผู้หญิงโวยทำไมต้องจ่ายแพง

ข่าวดี ! สรรพากร เล็งแก้ไขประมวลรัษฎากร เปิดช่องให้ภริยาแยกยื่นเสียภาษี ผู้หญิงโวยทำไมต้องจ่ายแพง

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า ขณะนี้น่าจะถึงเวลาที่ให้สามีและภรรยาแยกกันยื่นแสดงแบบเสียภาษีได้แล้ว แม้จะมีผลทำให้รายได้ของกรมสรรพากรลดลง แต่ไม่น่าจะมากนัก เพราะทั้งสามีและภรรยาที่เคยยื่นแบบเสียภาษีด้วยกันนั้นมีเพียง 20% ของผู้เสียภาษี และเมื่อแยกกันยื่นภาษีแล้วจะทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าด้วย โดยต้องมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรก่อน จึงอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง หรืออาจต้องรอการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบหรือรายการอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน

 

ผู้สื่อข่าว"มติชนออนไลน์"รายงานว่า   ปัจจุบัน ผู้หญิง (ภริยาจดทะเบียน) จำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ที่มีคู่สมรส ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และ 57 เบญจ  เพราะต้องนำรายได้ไปรวมกับสามี ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกว่าผู้ที่เป็นโสด หรือผู้ที่มิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย บางรายนับแสนบาท ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมต่อคู่สมรส ไม่ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และไม่สอดคล้องกับสภาวะของสังคมในปัจจุบัน  ปัญหาดังกล่าวกลุ่มผู้หญิงได้มาร้องเรียนมาโดยตลอด ผ่านหลายองค์กร  รวมถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

ก่อนหน้านี้ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับลูก โดยตั้งคณะทำงานศึกษาประเด็นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ที่มีคู่สมรส ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และ 57 เบญจ ว่าเป็นประเด็นทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชน

 

หญิงมีสามี เสียภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น  

คณะทำงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  พบว่า มาตรา 57 ตรี ให้ถือเอาเงินได้ของภรรยามาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ทำให้ยิ่งมีเงินได้มากก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ถ้าเป็นบุคคลเดียว มีเงินได้สุทธิน้อยก็เสียภาษีน้อย แต่ถ้าจะต้องนำเงินได้ของอีกคนหนึ่งมารวม กลายเป็นเงินได้ของคนสองคน ทำให้เงินได้สุทธิเพิ่มขึ้น จะต้องเสียภาษีในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น 

ปัญหานี้ในปี 2529 มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 57 เบญจ ให้ภรรยามีสิทธิที่จะแยกยื่นเงินได้ประเภทเงินเดือนตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ต่างหากจากสามีได้ แต่เงินได้ประเภทอื่นตามมาตรา 40 (2) ถึง (8) เช่น ค่านายหน้า ค่าเช่า การประกอบธุรกิจ ยังต้องถือเป็นเงินได้ของสามี และสามีจะต้องนำมารวมยื่นเสียภาษีในแบบ ภ.ง.ด. 90 

อย่างไรก็ตาม การเสียภาษีที่จะนำเงินได้ของภรรยามาเป็นเงินได้ของสามีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการที่สำคัญคือ 1.ต้องเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือมีการจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย 2.ต้องอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี 3.สามีและภรรยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ หากไม่เข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้ เงินได้ของภรรยาจะไม่ถือเป็นเงินได้ของสามี

 

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้ว ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้  ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 48/2545 ว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี และ 57 เบญจ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะเป็นการเก็บภาษีจากสามีภรรยาทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ 

 

อย่างไรก็ตาม นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ มีความเห็นร่วมกันว่า บทบัญญัติดังกล่าวของประมวลรัษฎากรไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ที่มีครอบครัว กรณีที่คู่สมรสมีรายได้อื่น นอกจากเงินเดือนจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกว่าผู้ที่เป็นโสด หรือผู้ที่มิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

 

ตั้งวงเสวนาถกปัญหาภาษีไม่เป็นธรรม 

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  ได้จัดเสวนา "การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของหญิงที่มีสามี" ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนามีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งเห็นควรแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน

 

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า ก่อนจดทะเบียนสมรส นาย ก มีเงินได้จากเงินเดือนรวมทั้งปี 1 ล้านบาท และนางสาว ข มีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิต 1 ล้านบาท ต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี เพราะเป็นโสด นาย ก และนางสาว ข จะเสียภาษีคนละ 117,000 บาท รวม 2 คน เสียภาษี 234,000 บาท

 

แต่เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว เดิมนางสาว ข ยื่นเสียภาษีแบบ ภ.ง.ด. 90 เพราะมีเงินได้จากการขายประกันชีวิต ส่วนนาย ก ยื่นเสียภาษีแบบ ภ.ง.ด. 91 เพราะมีรายได้จากเงินเดือนเท่านั้น รายได้จากการขายประกันของนางสาว ข จะต้องถือเป็นเงินได้ของนาย ก โดยที่นาย ก จะต้องเปลี่ยนมายื่นเสียภาษีในแบบ ภ.ง.ด. 90 และเมื่อคำนวณภาษีที่จะต้องเสียแล้ว จะเป็นเงินจำนวน 381,000 บาท ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นถึง 147,000 บาท

อย่างไรก็ตามการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด แต่ไม่มีข้อห้ามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเพื่อให้เป็นคำวินิจฉัยเด็ดขาดใหม่ไม่ได้ 

 

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ กลับคำพิพากษา

นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า มีช่องทางหนึ่งที่สามารถส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใหม่ได้ เพราะในปัจจุบันมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะใหม่ซึ่งเห็นความสำคัญของสิทธิสตรี เช่น อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ถ้าหากผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยใหม่ คิดว่ามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยสูง  

 

นายกิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า ประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมในหญิงที่มีรายได้มากกว่าสามี กรณีที่หญิงมีรายได้พิเศษหรือรายได้มากกว่าสามี เช่น นักแสดง นักร้อง นักเขียน จะมีปัญหามาก และจะแก้ไขโดยการนำไปเข้าในรูปของบริษัทหรือการตั้งคณะบุคคล อย่างไรก็ตามการแก้ไขมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ อยู่ในขั้นศึกษาเพื่อแก้ไขประมวลรัษฎากร แต่การแก้ไขกฎหมายจะต้องอิงกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง โดยที่จะต้องวิเคราะห์ภาพกว้างของทั้งประเทศ

รุนแรงถึงขั้นจดทะเบียนหย่า  
นายชุมพร เสนไสย  นักกฎหมายจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัญหาการจัดเก็บภาษีของคู่สมรสคือต้องการให้สามีภรรยาสามารถแยกยื่นภาษีได้ เพราะถ้ารวมยื่นแล้วจะทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น ประกอบกับปัจจุบันเงินได้ที่ฝ่ายหญิงมีค่อนข้างมากคือเงินได้ตามมาตรา 40 (2) เป็นเงินได้ที่มาจากแรงงานที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ไม่มีนายจ้าง เช่น ค่านายหน้า ค่าที่ปรึกษา ซึ่งตามกฎหมาย ฝ่ายหญิงจะต้องนำไปให้ฝ่ายชายยื่นเสียภาษี หลายคนจึงเลือกที่จะไม่จดทะเบียนหรือไม่ก็จดทะเบียนสมรสแล้วสิ้นปีจดทะเบียนหย่า แต่ยังอยู่บ้านเดียวกัน เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ประมวลรัษฎากรควรจะแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันด้วย

 

ทำไม ต้องจ่ายแพงกว่า  ?   

นายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่มีผลกระทบเฉพาะต่อผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องสิทธิสตรี แต่เป็นผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว ไม่ส่งเสริมสถานภาพครอบครัว ปัญหาอยู่ที่จำนวนเงินในการคำนวณซึ่งได้จำนวนที่แตกต่างกัน กล่าวคือรายได้เท่าเดิม ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างจ่าย เมื่อคำนวณภาษีออกจ่ายจำนวนน้อยกว่า เมื่อมาอยู่รวมกัน แต่งงานตามกฎหมาย บังคับให้ไปรวมกัน ต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนต่างคนต่างอยู่ ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า ทำไมไม่เสียเท่ากับตอนแยกคำนวณ หรือควรจะน้อยกว่าเดิม เพราะการสร้างครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นธรรม

 

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน