ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้
โดยปลัดกระทรวงการคลังรักษาการตามประกาศนี้
ตามประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ที่ปรึกษาไทยมี 2 ประเภท ดังนี้
(1) ที่ปรึกษาอิสระ
(2) ที่ปรึกษานิติบุคคล
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาอิสระ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
(2) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกมาแล้ว มากกว่าสิบปี ห้าปี และสามปี ตามลำดับ จากสถาบันการศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง และมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษา ในสาขาที่เกี่ยวข้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของแต่ละระดับการศึกษาข้างต้น
(3) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้าง ในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ห้างหุ้นส่วน บริษัท มูลนิธิ สมาคม หรือหน่วยงานอื่นใด แล้วแต่กรณี
ส่วน ที่ปรึกษานิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) จดทะเบียนในประเทศไทย และต้องมีวัตถุประสงค์ในการเป็นที่ปรึกษา
(2) ต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป
(3) ต้องมีจำนวนหุ้นของผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด ซึ่งมีสิทธิในการออกเสียง และจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
(4) ต้องมีกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันเป็นผู้มีสัญชาติไทยมากกว่ากึ่งหนึ่ง
(5) ต้องมีบุคลากรที่ปรึกษาที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าสองคน และต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนบุคลากรที่ปรึกษาทั้งหมด
ประกาศ กำหนดระดับของที่ปรึกษาไทย 2 ระดับ
(1 ) ที่ปรึกษาอิสระระดับ A
(2) ที่ปรึกษาอิสระระดับ B
สำนักงานจะจดทะเบียนให้ที่ปรึกษาอิสระหรือที่ปรึกษานิติบุคคลใดเป็นที่ปรึกษาใน สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือหลายสาขา ดังต่อไปนี้
(1) สาขาเกษตรและพัฒนาชนบท
(2) สาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง
(3) สาขาการศึกษา
(4) สาขาพลังงาน
(5) สาขาสิ่งแวดล้อม
(6) สาขาการเงิน
(7) สาขาสาธารณสุข
(8) สาขาอุตสาหกรรม
(9) สาขาประชากร
(10) สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม
(11) สาขาการท่องเที่ยว
(12) สาขาคมนาคมขนส่ง
(13) สาขาพัฒนาเมือง
(14) สาขาการประปาและสุขาภิบาล
(15) สาขาเบ็ดเตล็ด
ทั้งนี้ บทเฉพาะกาล กำหนดว่า ที่ปรึกษาไทยที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ยังคงมีสิทธิตามเงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามหนังสือรับรองแล้ว ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน