วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาล พ.ศ. ๒๕๕๔
ข้อกำหนดระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาลด้วยวิธีอื่น นอกเหนือจากการชำระด้วยเงินสด หรือเช็คซึ่งธนาคารรับรอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔๙ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประธานศาลฎีกาจึงออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการชำระค่าธรรมเนียมศาล พ.ศ. ๒๕๕๔”
ข้อ ๒ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ บรรดาประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่ได้กำหนดไว้แล้วในข้อกำหนดนี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ให้ใช้ข้อกำหนดนี้แทน
ข้อ ๔ ในข้อกำหนดนี้
“เงินค่าธรรมเนียมศาล” หมายความว่า เงินที่ชำระต่อศาลเป็นค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ตามตาราง ๑ และตาราง ๒ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
“ศาล” หมายความว่า ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานศาลยุติธรรม
ข้อ ๕ การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาล นอกเหนือจากการชำระเป็นเงินสด หรือเช็ค ซึ่งธนาคารรับรอง อาจชำระได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) เช็คซึ่งส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผู้สั่งจ่าย
(๒) บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
(๓) หักบัญชีธนาคาร หรือชำระผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจ การบริการรับชำระหนี้แทนหรือด้วยเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM)
(๔) ทางอินเตอร์เน็ต
(๕) วิธีการอื่นตามที่สำนักงานกำหนด
การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลตามวรรคหนึ่งจะต้องเป็นกรณีที่ชำระภายในระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ และหากมีค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการเรียกเก็บเงินตามวิธีการดังกล่าวให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลเป็นผู้รับภาระวิธีการและผลของการชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ ๖ การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกันให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิตหรือบัตรอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ออกโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นใดซึ่งได้ทำความตกลงกับสำนักงาน
(๒) กรณีบัตรที่ใช้ชำระมิใช่เป็นบัตรของผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาล หรือเป็นการชำระแทนในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลสามารถดำเนินการได้โดยให้ศาล ออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว
ข้อ ๗ การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยการหักบัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงินต้องได้รับอนุญาตจากศาลและผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลได้แสดงเจตนาเป็นหนังสือยินยอมให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินหักเงินจากบัญชีของตนเพื่อชำระเงินค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินดังกล่าวได้อนุมัติและแจ้งผลให้ศาลทราบแล้ว โดยให้เจ้าพนักงานศาลออกใบรับให้
ข้อ ๘ การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยผ่านธนาคาร สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจบริการรับชำระหนี้แทนได้ให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลนั้นได้ทำความตกลงกับสำนักงานแล้ว
(๒) ศาลต้องออกใบแจ้งการชำระเงินค่าธรรมเนียมศาล เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลใช้เป็นหลักฐานในการชำระ
(๓) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระเงินมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบเสร็จรับเงิน
สำหรับการชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลผ่านเครื่องฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระผ่านเครื่องดังกล่าวมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบเสร็จรับเงิน
ข้อ ๙ การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตจะต้องเป็นการชำระผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่สำนักงานกำหนดไว้
(๒) การชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลโดยทางอินเตอร์เน็ตด้วยบัตรเครดิต ธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตรได้ทำความตกลงกับสำนักงานแล้ว
(๓) ผู้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลต้องนำหลักฐานการชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลมาแสดงต่อศาลเพื่อออกใบเสร็จรับเงิน
ข้อ ๑๐ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรักษาการตามข้อกำหนดนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
สบโชค สุขารมณ์
ประธานศาลฎีกา
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน