นายเมธี ครองแก้ว กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช. (10 พ.ค.) มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคมและคณะกรรมการบริษัท รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่ระหว่าง กสทฯกับกลุ่มทรู ว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นเห็นว่า การทำสัญญาดังกล่าวอาจหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทั้งยังอาจมีการจัดสรรคลื่นแบบผูกขาด สอดคล้องกับผลตรวจสอบของคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริต และส่งเสริมธรรมาภิบาล วุฒิสภา
"หนังสือของกรรมาธิการ วุฒิสภา เป็นเอกสารสำคัญที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวได้ทำให้กระบวนการที่ ป.ป.ช.จะส่งรายงานที่พบว่าโครงการมีความเสี่ยงให้ ครม.พิจารณาสั่งระงับการดำเนินการต้องหยุดไว้ก่อน ต้องรอผลไต่สวนก่อน เพื่อดูว่ามีมูลความผิดอาญาหรือไม่ ระหว่างนี้ ป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่ามีอำนาจระงับโครงการไว้ก่อนหรือไม่ ตามกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ชุดใหญ่มีอำนาจระงับได้ แต่โครงการนี้ไม่แน่ชัด"
โดยใน 3 อาทิตย์จะเร่งหาผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนเร็วที่สุด ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช. 4 คน และผู้เชี่ยวชาญภายนอกด้านโทรคมนาคม 2 คน รวมถึงอัยการ
สำหรับความคืบหน้า กรณี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายของสัญญาระหว่าง กสทฯ และทรู ในการร่วมลงทุนให้บริการสื่อสาร ระบบ CDMA และ HSPA เพื่อให้มีคำสั่งให้ กสทฯระงับการดำเนินการ ต่าง ๆ ภายใต้สัญญาดังกล่าวจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งหมดจะได้ทำการตรวจสอบและรับรองการดำเนินการ ทางธุรกิจดังกล่าวตามขั้นตอนที่ถูกต้องด้วย
ศาลปกครองได้เรียกคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายมาไต่สวน นอกจากตัวแทนดีแทคและ กสทฯแล้ว ยังมีตัวแทนจากทรูด้วย และศาลมีคำสั่งให้คู่กรณีส่งเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 12 พ.ค.นี้ และจะมีคำสั่งว่าจะคุ้มครองฉุกเฉิน มีมาตราบรรเทาทุกข์หรือไม่ ภายในวันที่ 18 พ.ค.
โดยนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง พร้อมชี้แจงว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ชั่วคราวหรือระงับการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าวจะกระทบลูกค้าฮัทช์ 1.2 ล้านราย
ด้านนายธัช บุษฎีกานต์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายโทรคมนาคม ทรู ได้ขอชี้แจงต่อศาลว่า หากศาลมีคำสั่ง คุ้มครองฉุกเฉิน ทรูจะได้รับผลกระทบทันที เพราะได้กู้เงินจากแบงก์ไทยพาณิชย์ในการเข้าซื้อกิจการฮัทช์แล้ว 6,300 ล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะสั้นครบกำหนดจ่ายหนี้ 27 ก.ค.ที่จะถึงนี้ เสียดอกเบี้ยเดือนละ 50 ล้านบาท และขณะนี้กลุ่มทรูกำลังเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อทำสัญญากู้ระยะยาว วงเงิน 49,000 ล้านบาท จากหลายธนาคาร คาดว่าจะทำสัญญาเงินกู้เร็ว ๆ นี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ