ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (8 มิถุนายน 2554)
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน และการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่มีมานาน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินรวมทั้งปัญหาการเก็งกำไรในที่ดิน เป็นเหตุให้ที่ดินถูกทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และสูญเสียพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “บจธ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Land Bank Administration Institute (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “LABAI” มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ให้สินเชื่อเพื่อการจัดหาและพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ผู้ยากจน ผู้ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน องค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรชุมชน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน
(3) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน
(4) โอนหรือรับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(5) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(6 ) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ยืม ให้ยืม เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนหรือดำเนินงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ
(7) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(8) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(9) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งใน ประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(10) ประสานงาน ให้คำปรึกษาและคำแนะนำการวางแผนพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในที่ดินแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
(11) รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารที่ดิน รวมทั้งเสนอแนะปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขต่อคณะกรรมการ
(12) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่าง ๆตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
(13) เป็นตัวแทนหรือนายหน้า หรือมอบหมาย หรือว่าจ้างให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ประกอบ กิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน
(14) เผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เป็นต้น
สำหรับ “คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน” 10 คน ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงทางด้านการจัดการที่ดิน ด้านการบริหาร ด้านการวางผังเมือง หรือวิทยาการอื่นที่ เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน
(2 ) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัด กระทรวงมหาดไทย
(3 ) กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน จำนวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากตัวแทนขององค์กรชุมชน
(4 ) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำ นวนสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการจัดการที่ดิน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการพัฒนาสังคม หรือวิทยาการอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน โดยในจำนวนนี้ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำร่วมอยู่ด้วย
แหล่งข่าว เปิดเผยว่า พ.ร.ฎ. จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและ การไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน แต่ทั้งนี้ ถ้าจะให้ธนาคารที่ดิน แก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้จำนวนมากพอ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ธนาคารที่ดินจะแก้ปัญหาได้น้อยมาก และประเด็นสำคัญจะต้องเร่งผลักดันพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินให้กับธนาคารที่ดิน
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน