ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ รายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม 5 อันดับแรกของคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร ในช่วง มกราคม -กันยายน 2553 พบว่าคดีผู้บริโภค 5 อันดับแรก อันดับ 1 สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้ำประกัน จำนวน 114,770 คดี อันดับ 2 บัตรเครดิต จำนวน 58,446 คดี อันดับ 2 กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 56,073 คดีอันดับ 4 เช่าซื้อ (รถยนต์) จำนวน 24,351 คดี อันดับ 5 เช่าซื้อ (อื่นๆ) จำนวน 6,460 คดี รวม คดีผู้บริโภค 260,100 คดี
ส่วนคดีอาญา 5 อันดับแรก อันดับ 1 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำนวน 112,217 คดี อันดับ 2 พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 78,262 คดี อันดับ 3 พ.ร.บ.การพนัน จำนวน 47,788 คดี อันดับ 4 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง จำนวน 24,513 คดี อันดับ 5 ความผิดฐานลักทรัพย์ จำนวน 22,474 คดี ทั้งนี้ คดีแพ่งในศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 5 อันดับ อันดับ 1 ขอจัดการมรดก จำนวน 57,577 คดี อันดับ 2 ละเมิด จำนวน 15,262 คดี อันดับ 3 ยืม จำนวน 11,181 คดี อันดับ 4 ซื้อขาย จำนวน 5,018 คดี อันดับ 5 ขับไล่ จำนวน 4,982 คดี สำหรับคดีผู้บริโภคนั้นมี แนวโน้ม เข้าสู่ศาลได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2552 มีการฟ้องคดีผู้บริโภคถึง 356,230 คดี เมื่อเทียบกับคดีแพ่งทั่วประเทศ 6.5 แสนคดี เป็นคดีผู้บริโภคถึง 3.5 แสนคดี มากกว่า 50% ของ คดีแพ่ง
คดีผู้บริโภค ในปี 2552 คดีกู้ยืม ค้ำประกัน สินเชื่อบุคคล 146,465 คดี บัตรเครดิต 92,680 คดี กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา 52,924 คดี เช่าซื้อรถยนต์ 33,884 คดี ที่เหลือเป็นคดีเล็ก ๆ ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 30,000 บาท คดีผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 90 ผู้ประกอบการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อตกลงหรือสัญญาที่ได้ทำไว้
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ทนายความ เปิดเผยถึง ปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคว่า ถึงแม้ว่าหลักการและแนวคิดของกฎหมายนี้จะเน้นขยายความคุ้มครองผู้บริโภคให้ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรม แต่การบังคับใช้ กฎหมายที่ผ่านมานั้น การวินิจฉัยประเภทคดีว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่นั้น ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี
"แม้ว่าผู้บริโภคจะ ยื่นฟ้องคดีที่ศาลชั้นต้นไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการก็จะอ้างว่าคดีนี้ไม่เข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภค เรื่องดังกล่าวก็ต้องถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อนว่าเข้าข่ายคดีผู้ บริโภคหรือไม่ การพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นก็ต้องหยุดลงเพื่อรอคำวินิจฉัยออกมาก่อน เพราะการแยกประเภทคดีจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินคดีและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ใช่คดีผู้บริโภคก็จะต้องมีการเสียค่าธรรมการยื่นฟ้องแพ่ง ซึ่งความล่านี้ส่งผลต่ออายุความตามกฎหมาย"
นอกจากนี้ยังมีประเด็น เรื่องเขตอำนาจศาลตามมาตรา 17 ที่ว่าให้ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนาหรือมูลคดีเกิด ผู้ประกอบการธุรกิจเป็นโจทก์ให้ฟ้องต่อศาลที่มีภูมิลำเนา เรื่องนี้ดูเหมือนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แต่กลับกลายเป็นว่า สร้างภาระ เพราะคนทั่วไปไม่ได้ทำงานอยูในภูมิลำเนาของตัวเอง บางคนทำงานอยู่กรุงเทพแต่ถูกฟ้องศาล และศาลได้ส่งเอกสารไปภูมิลำเนาที่บ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ก็ต้องกลับไปขึ้นศาลที่ต่างจังหวัด จึงควรจะต้องแก้ปัญหา ให้ตีความคำว่าภูมิลำเนาในความหมายอื่นด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน