• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • บอร์ด กทช. เปิดโพยผู้มีอำนาจเหนือตลาดยักษ์สื่อสารโดนยกกระบิ

บอร์ด กทช. เปิดโพยผู้มีอำนาจเหนือตลาดยักษ์สื่อสารโดนยกกระบิ

กทช. ประกาศรายชื่อผู้มีอำนาจเหนือตลาด "ดีแทคเอไอเอสทีโอทีทรูกสท" โดนหมด พร้อมเห็นชอบร่างประกาศห้ามขายพ่วง และยืนยัน 1 ก.ย.นี้ ค่ายมือถือต้องให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรคมนาคม ขณะที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคโทรคมนาคม บี้ค่ายมือถือลดค่าเชื่อมโยง หวังผลค่าโทรศัพท์มือถือถูกลงได้อีก…

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทช. เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ได้อนุมัติร่างประกาศ กทช.เรื่องการครอบงำกิจการโทรคมนาคม เพื่อนำไปรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์ทั้งผ่านเว็บไซต์และผ่านเวทีประชาพิจารณ์ต่อไป) และได้ประกาศรายชื่อผู้มีอำนาจเหนือตลาด 5 ราย แบ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์มือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, ผู้มีอำนาจเหนือตลาดผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต (อินเตอร์เน็ตเกตเวย์) คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์พื้นฐานและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
 
โดย กทช.ได้พิจารณาตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 33% ถือว่ามีอำนาจเหนือตลาด ส่วนหลักเกณฑ์และมาตรการที่จะดำเนินการกับผู้มีอำนาจเหนือตลาด ยังไม่มีข้อสรุป เพียงแต่เป็นการประกาศรายชื่อให้รับทราบเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างประกาศ กทช. เรื่องการแยกส่วนการให้บริการโทรคมนาคม หรือการห้ามขายพ่วง โดยจะให้นำเรื่องดังกล่าวประกาศบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อรับฟังความเห็น และหลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเปิดเวทีสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) อีกครั้ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาธิการ กทช. กล่าวว่า บอร์ด กทช. มีมติยืนยันที่จะให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรคมนาคม (Number Portility) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 53 เป็นต้นไป แม้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะยื่นอุทธรณ์เพื่อขอเลื่อนการเปิดบริการออกไปเป็น 1 ม.ค. 54 ใน 3 ประเด็นคือ 1.เหตุภูเขาไฟที่ประเทศไอซ์แลนด์ระเบิด 2.เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. 3.ปัญหาด้านเทคนิค ทำให้การขนส่งอุปกรณ์โทรคมนาคมที่จะนำมาเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายล่าช้าออกไป

สำหรับการบริการคงสิทธิเลขหมายโทรคมนาคมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก เพราะสามารถย้ายบริการไปยังค่ายมือถือรายอื่น ๆ ได้ ในขณะที่เลขหมายโทรศัพท์ยังคงเดิม เพียงแต่ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผู้ให้บริการในอัตรา 99 บาทต่อครั้ง ที่มีการเปลี่ยนผู้ให้บริการ


นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทช. ยังได้อนุมัติเลขหมายโทรคมนาคม ให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 1 ล้านเลขหมาย ค่าธรรมเนียมเลขหมายละ 2 บาท จากที่ดีแทคยื่นขอมา 4 ล้านเลขหมาย โดย กทช. พิจารณาความจำเป็นและความเป็นได้ในการใช้เลขหมายโทรคมนาคม แต่หากดีแทคใช้เลขหมายใกล้หมด ก็สามารถยื่นเรื่องขอเลขหมายเพิ่มเติมได้ตลอด

ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ