เมื่อวันที่ 14 ก.ค. พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทช. อยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางพบนักลงทุนต่างประเทศ หรือ โรดโชว์ เพื่อเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน 3 จี ในประเทศไทย โดยการเดินทางครั้งนี้ จะไปใน 3 เส้นทาง คือ 1. จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อาจจะเพิ่มฮ่องกง ไต้หวัน 2. มาเลเซีย ออสเตรเลีย 3. อินเดียและยุโรป โดยมั่นใจว่าประเทศดังกล่าวมีนักลงทุนรายใหญ่ที่น่าจะให้ความสนใจ 3 จีในไทย
"เราต้องมีความมั่นใจว่า ถ้าไปแล้วต้องเกิดการประมูล การแข่งขันก็จะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ตราบใดที่ใช้ความพยายามสิ้นสุดแล้ว อย่าไปกังวลว่าหน้าแตกหรือไม่หน้าแตก จะได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเชิญให้ทุกคนมาร่วม" กรรมการ กทช. กล่าว
พันเอกนที กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในการโรดโชว์น่าจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการจัดทีม เพื่อเดินทางไปโรดโชว์ เพื่ออธิบายว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยเป็นอย่างไร และให้นักลงทุนได้มั่นใจเข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมประมูล 3จี ของคนต่างชาติจะต้องเป็นไปตามตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คือต่างชาติห้ามถือหุ้นเกิน 49% เป็นหลักด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังเตรียมเชิญผู้ประกอบการมือถือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรูมูฟ จำกัด รวมถึงผู้ให้สัมปทานคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่ออธิบายให้รับทราบและเข้าใจในแนวทางเดียวกันเรื่องการจำกัดการถือครองคลื่น (spectrum cap) ในร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ในวันที่ 16 ก.ค. 2553
สำหรับกระบวนการคืนคลื่นดังกล่าว จะไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานเดิม แต่เป็นข้อกำหนดให้ผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการมือถือรายเดิม จะต้องคืนสิทธิ์การบริหารคลื่นความถี่เท่านั้น ส่วนสิทธิ์การใช้งานจะยังคงมีไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน ซึ่งภายหลังจากที่ผู้ประกอบการรายเดิมชนะการประมูล จะต้องทำส่งแผนคืนคลื่นความถี่คืน และส่งหนังสือเพื่อยืนยันการใช้งานตามสิทธิสัญญาสัมปทาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกำหนดดังกล่าว เอกชนยังมีข้อกังวลว่าจะเข้าข่ายมาตรา 22 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ไม่ควรกังวล เพราะการดำเนินดังกล่าวไม่ถือป็นการแก้สัญญาสัมปทาน
หลังจากปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2553 ที่มีบางท่านได้ส่งความเห็น 3 จี เพิ่มเติม มาล่าช้า กทช. ความเห็นว่าจะตอบข้อคิดเห็นและนำขึ้นบนเว็บไซต์ www.ntc.or.th ก็หวังจะประกาศราชกิจจานุเบกษาประมาณวันที่ 20-25 ก.ค. 2553
นอกจากนี้ การประชุม กทช. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2553 ยังได้อนุมัติร่างหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ เรื่องแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (Broadband Wireless Access : BWA) ในย่านความถี่ 2300-2400 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไป โดยคาดการณ์ว่าการประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะจัดขึ้นได้ประมาณ สัปดาห์ที่ 1 หรือ 2 ในเดือน ส.ค. 2553.
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ