ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปด(คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม แห่งชาติกับหน่วยงานของรัฐรวม 8 แห่ง) อนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะ 7 ราย ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประกอบด้วย
(1) โครงการขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมี และคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด
(2) โครงการผลิตเมธิลเมตาคลีเลต โรงงานที่ 2 ของบริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด
(3) โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน ของบริษัท สยามโพลิเอททีลีน จำกัด
(4) โครงการผลิตโพลิเอททีลีน ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ 26 และ 43 ของบริษัท สยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด
(5) โครงการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีน ของบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด
(6) โครงการบีสฟีนอลเอ ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ ๑๒ และ ๓๑ ของบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด
(7) โครงการผลิตเหล็กส่วนขยายของบริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด ก่อ สร้างโครงการส่วนที่เหลือต่อไปจนแล้วเสร็จ ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทดลองระบบที่เกี่ยวข้อง และทดลองเดินเครื่องจักร โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดตรวจสอบแต่ละโครงการ ให้เป็นไปตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) รวมทั้งหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
คำสั่งดังกล่าว สืบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1553 ต่อศาลปกครองกลางว่า เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 7 บริษัท มีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคาร ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโครงการหรือกิจกรรมต่อไป
ซึ่งหากไม่ดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จ จะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและเสียหายเป็นอันมาก ยากที่จะเยียวยาความเสียหายในภายหลัง ซึ่งหากศาลอนุญาตให้ก่อสร้างและทดสอบการเดินเครื่องจักรแล้ว จะไม่เปิดดำเนินการโครงการหรือกิจกรรม ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และจะปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ที่จะออกตามความในมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองกลางไต่สวนคู่กรณีและผู้รับมอบอำนาจ จากเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 และศาลได้ออกไปตรวจสถานที่ ที่เป็นมูลเหตุแห่งการยื่นคำร้องได้ความว่า
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดได้ ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรม ระงับการดำเนิน โครงการหรือกิจกรรม ซึ่งเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดอย่างเคร่งครัด
แต่มีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคาร และติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโครงการหรือกิจกรรมต่อไป ซึ่งหากไม่ดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จ จะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและเสียหายเป็นอันมากและยากที่จะเยียวยาความเสียหายในภายหลัง
เนื่องจากงานก่อสร้างที่ค้างอยู่ เช่น โครงสร้างเหล็กที่ยังติดตั้งไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่สามารถ รองรับน้ำหนักได้ตามหลักวิศวกรรมและอาจล้มพังลงมาได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อโครงการเดิมที่อยู่ใกล้กันและต่อพนักงานที่ทำงานในบริเวณใกล้เคียง
โครงสร้างเหล็กที่ติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการเทคอนกรีตทนไฟหุ้มไว้ก่อให้เกิดสนิม และหากเกิดไฟไหม้อาจทำให้โครงสร้างเหล็กที่ติดตั้งไว้ สูญเสียกำลังและพังลงมา การติดตั้งเครื่องจักรที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ไม่มีโครงเหล็กที่แข็งแรงรองรับ หรือยังไม่ได้ยึดเครื่องจักรให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม หรือเครื่องจักรของโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่ได้ยกขึ้นติดตั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้ยึดให้มั่นคงแข็งแรง
เมื่อมีแรงสั่นสะเทือน อาจเกิดการเคลื่อนย้ายหนีออกไปจากจุดติดตั้ง ทำให้เสียสมดุลและโครงสร้างอาจไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ฐานรากที่ก่อสร้างรองรับเครื่องจักรที่ก่อสร้างทิ้งไว้ ซึ่งยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องจักรทำให้เกิดสนิม เครื่องจักรที่ติดตั้งทิ้งไว้ ยังไม่ได้ทาสีทำให้เกิดสนิมและเกิดความเสียหาย ต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์
ท่อที่กองรวมกันไว้จำนวนมากยังไม่ได้ยกขึ้นไปติดตั้งเกิดสนิมทั้งภายในท่อ และภายนอกท่อส่งผลให้ความแข็งแรงในการรับแรงดันเสียไป ระบบท่อและเครื่องจักรเกิดสนิม นั่งร้านของโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงเหล็กใช้ค้ำยันโครงสร้างและเครื่องจักรขนาดใหญ่ กระจายอยู่ตาม พื้นที่ก่อสร้างที่หยุดทำการก่อสร้างในโครงการต่าง ๆ หลายบริเวณ
ตั้งอยู่ในที่มีความสูงหลายสิบเมตรการปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ ดำเนินการก่อสร้างติดต่อกันมาหลายเดือน อาจหลุดล่วงลงมาหรือพังล้มลงได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ต่อเนื่องตามมา ระบบดับเพลิงที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จทำให้ประสิทธิภาพการป้องกัน อัคคีภัยในบริเวณใกล้เคียงลดน้อยลง การบรรจุสารเคมี ซึ่งขณะนี้เก็บไว้ในลักษณะชั่วคราวไม่ได้เก็บในถังเก็บสารเคมี อาจเกิดการฟุ้งกระจายออกไป เป็นต้น
ศาลเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาถือได้ว่าจริงที่กล่าวมาถือได้ว่า การดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันอัคคีภัยลดน้อยลงไว้โดยยังไม่ได้ทาสี เป็นข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏตามคำร้อง และการตรวจสถานที่ที่เป็นมูลเหตุแห่งการยื่นคำร้อง กรณีการก่อสร้างที่ยังดำเนินงานไม่แล้วเสร็จนั้น มีลักษณะและสภาพของการดำเนินงานที่จำกัดอยู่ในพื้นที่โครงการ การก่อสร้างไม่มีการดำเนินงานในทะเล การทดสอบระบบต่าง ๆ เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จเป็นวิธีการทดสอบตามหลักปฏิบัติทั่วไป
ส่วนการทดสอบเดินเครื่องจักร เพื่อบำรุงรักษาระบบไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งการทดสอบระบบและทดลองเดินเครื่องจักร เป็นการดำเนินงานภายในตัวอาคาร โครงการที่ก่อสร้างแล้ว จึงเห็นว่า
โดยที่โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการตามคำร้องที่กล่าวมา จะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน ซึ่งศาลอาศัยเป็นหลักในการมีคำสั่งเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีนี้
และเมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐ ซึ่งข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหาย อันตรายและความไม่ปลอดภัยต่อผู้ร้อง บุคคลอื่นและต่อสาธารณะ
ศาลจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปด อนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะ 7 รายข้างต้น ดำเนินการได้ตามคำร้องคือ ก่อสร้างโครงการส่วนที่เหลือต่อไปจนแล้วเสร็จ ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทดลองระบบที่เกี่ยวข้อง และทดลองเดินเครื่องจักร
โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปด ตรวจสอบแต่ละโครงการให้เป็นไป ตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด นอกจากในส่วนที่ศาลมีคำสั่งตามคำร้องนี้แล้ว ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 809/2552 ลงวันที่ 29 กันยายน 2552 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2552
ที่มา มติชน
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนค้านศาลปกครองปล่อย 9 โครงการมาบตาพุด
25 ก.พ.53 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ภายหลังทราบคำสั่งศาลปกครองกลางอนุญาตให้ 9 โครงการประเภทรุนแรง ในพื้นที่มาบตาพุด สามารถเดินหน้าก่อสร้างและทดลองเครื่องจักรต่อไปได้ เห็นว่าคำสั่งดังกล่าว สุ่มเสี่ยงต่อการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า โครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการจัดทำอีไอเอ, เอชไอเอ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ส่วนได้เสีย และการให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ “ก่อนดำเนินโครงการ” ดังกล่าว
แต่การที่ศาลอนุญาตให้โครงการทั้ง 9 โครงการดำเนินโครงการต่อไปได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนเสี่ยก่อน จึงอาจถือว่าเป็นการละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายกสมาคมฯ ระบุในฐานะผู้ฟ้องคดี จะต้องหาข้อยุติในทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในทางกฎหมาย โดยอาจจะต้องยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองอนุญาตให้ 9 โครงการดังกล่าวก่อสร้างและทดลองเครื่องจักรต่อไปได้ โดยที่ยังไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองให้ครบถ้วนเสียก่อนนั้น “ขัดหรือแย้ง” ต่อ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
และหาก 9 โครงการดังกล่าว เดินหน้าดำเนินการก่อสร้างและเดินเครื่องจักรต่อไปได้ ตามคำสั่งของศาลแล้ว หากเกิดเหตุอุบัติภัยหรือเกิดเหตุใด ๆ เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของชาวบ้าน ใครจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว ระหว่างศาลปกครองกับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2553 เวลา 10.30 น. สมาคมฯ จะไปยื่นฟ้องร้องเพิ่มเติม เพื่อขอให้ศาลปกครองระงับ 12 โครงการในมาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียงเพิ่มเติม ภายหลังที่ สผ. เห็นชอบ EIA ไปแล้ว หลังจากที่สมาคมฯยื่นฟ้องขอให้ระงับ 76 โครงการในพื้นที่ดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
และขอให้ศาลสั่งให้หน่วยงานอนุญาตต่าง ๆ ยุติการให้ความเห็นชอบโครงการต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนกว่าจะกลับไปดำเนินการและปฏิบัติให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองเสียก่อน
ที่มา ประชาไท