• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • สภาหอการค้าไทย เสนอให้แก้ไขสินบนและรางวัลนำจับตามกฎหมายศุลกากร เปิดช่องให้เกิด “ศาลเตี้ย”

สภาหอการค้าไทย เสนอให้แก้ไขสินบนและรางวัลนำจับตามกฎหมายศุลกากร เปิดช่องให้เกิด “ศาลเตี้ย”

นายประดิษฐ์  ภัทรประสิทธิ์  รมช.คลัง 
กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา  "แก้ไขกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต  
เพื่อใคร?"  จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน  3  สถาบัน  (กกร.)  ว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการพิจารณาแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องสินบนและรางวัลนำจับที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ 

โดยเอกชนมองว่ายังมีช่องโหว่จนทำให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอาจจะใช้เป็นช่อง
ทางในการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง  จนเกิดลักษณะที่เรียกว่า  "ศาลเตี้ย" 
ซึ่งได้รับว่าจะนำไปพิจารณา  แต่ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปดูก่อน

นายกิตติพงษ์  อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ประเด็นเรื่องสินบนนำจับและเงินรางวัล ที่แบ่งให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 
ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก  เป็นเผือกร้อน  แต่พบว่าในร่าง  พ.ร.บ.ศุลกากร 
พ.ศ…  ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง 
พบว่าไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับสินบนนำจับและรางวัลนำจับเลย 
ดังนั้น  กกร.จึงได้มีข้อเสนอให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้

นายกิตติพงษ์กล่าวว่า สินบนนำจับที่กำหนดในปัจจุบันเป็นปัญหาต่อการค้าการลงทุนของประเทศ เพราะอาจถูกใช้เป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากส่วนแบ่งที่เจ้าหน้าที่จะได้รับมีสัดส่วนสูงมาก

โดยจะมีการจ่ายสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ  30% 
ของเงินค่าปรับ  และรางวัลนำจับให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีก  25% 
รวมเป็น  55%  ส่วนกรณีไม่มีผู้แจ้งความนำจับ  จะจ่ายรางวัล  30% 
ประเด็นคือ  สินบนนำจับจะจ่ายให้ผู้แจ้งความนำจับ 
ซึ่งก็เป็นเจ้าที่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุม 

ส่วนรางวัลนำจับ จะจ่ายให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และที่น่าสังเกตคือ ต้องมีการตรวจปล่อยของที่นำเข้าก่อน แล้วจึงจับกุมจึงจะได้รางวัล 
และการแบ่งรางวัลนั้น  รางวัล 1 ใน 3 จะเป็นของผู้จับกุม และรางวัล 2 ใน 3 แบ่งให้เจ้าหน้าที่ตามสัดส่วน

" ยกตัวอย่างกรณีการนำเข้าเหล็กซิลิคอน ถ้าผู้นำเข้าทุกรายยอมเสียค่าปรับ จะเป็นเงินทั้งสิ้น  3,000  ล้านบาท กฎหมายบอกว่า  เงินสินบนนำจับทั้งหมด  55% จะเท่ากับ  1,650  ล้านบาท จะตกเป็นของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเงินดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีเงิน
ได้ด้วย  ใหญ่กว่าประมวลรัษฎากรอีก 

อีกทั้งบริษัทผู้นำเข้าสามารถนำเบี้ยปรับเงินเพิ่มของกรมศุลกากรมาตัดเป็นค่าใช้จ่ายได้   คือหากบริษัทเสียภาษี  30%  บริษัทก็นำเงิน  3,000 
ล้านบาท ดังกล่าวมาหักภาษีได้ 900 ล้านบาท จึงเหลือเงินเข้ารัฐเพียง 450 ล้านบาทหรือแค่ 15%  เท่านั้น"  นายกิตติพงษ์กล่าว

นายจรณชัย  ศัลยพงษ์  ประธานคณะอนุกรรมการภาษีสรรพสามิต 
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย   กล่าวว่า  ที่ผ่านมาการปรับภาษีสรรพสามิต 
โดยเฉพาะภาษีสุราและภาษียาสูบ  พบว่าในช่วง  7  วันก่อนปรับ 
ซึ่งรัฐบาลมีการออกข่าวล่วงหน้า  ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก 
ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า  การปลอมแปลงและลักลอบนำเข้าสินค้าจำนวนมาก

ทั้งนี้  ภาคเอกชนเห็นว่าควรทบทวน  ปฏิรูปการเพิ่มฐาน 
และอัตราภาษีสรรพสามิตที่ปัจจุบันจะเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด 
จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ  รวมถึงผู้บริโภค

ที่มา ไทยโพสต์