วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2552 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 และให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วันหรือตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552
โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การกำหนดให้เพิ่มธุรกรรมในอาชีพอีก 9 ประเภทซึ่งใช้เงินสด เกินจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ผู้เกี่ยวข้องจะต้องรายงานรายละเอียดของธุรกรรมนั้น แก่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
สำหรับอาชีพทั้ง 9 ประเภท ได้แก่
1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุน
2.ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณีเพชรพลอย หรือทองคำที่เป็นนิติบุคคลล
3. ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เป็นนิติบุคคล
4.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นนิติบุคคลล
5. ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่า ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่าที่เป็นนิติบุคคลล
6. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับหรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
7. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน( เช่น บัตรกดเงินสดอิออน )
8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน เช่น บัตรเครดิตอิออน บัตรเครดิตจีอี
9. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส สบายเพย์)
เว้นแต่ในกรณีที่ ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยที่มีพยานหลักฐานอันสมควรว่า มีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้อง กับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน สำนักงาน ปปง.มี อำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอาชีพผู้ประกอบอาชีพ ค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ ค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ นายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ค้าของเก่า ซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคลรายงานธุรกรรมต่อสำนักงาน ปปง.ก็ได้
นอกจากนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ ยังบัญญัติให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพ เป็นที่ปรึกษาการลงทุน(ข้อ 1) และผู้รับชำระเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ (ข้อ9) ต้องกำหนดนโยบายการรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้าและต้องดำเนินการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เมื่อเริ่มทำธุรกรรมครั้งแรก โดยต้องตรวจสอบเป็นระยะจนสิ้นสุดดำเนินการ เมื่อมีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า
ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้กิจการ 6 ประเภท ต้องรายงานการทำธุรกรรมแก่ ปปง. ได้แก่
1.ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ
2. บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์และบริษัทหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม
4.บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย
5. สหกรณ์ซึ่งมีมูลค่าหุ้นรวมกัน ตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป และมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ให้กู้ ให้สินเชื่อรับจำนองหรือรับจำนำทรัพย์สิน หรือจัดให้ได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ โดยวิธีใด ๆ
ที่มา มติชน