• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • อธิบดีฯศาลล้มละลายกลางเผย 4 เดือนแรกปีนี้มีคดีล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ 6,676 คดี ทุนทรัพย์ทะลุ 1.1 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

อธิบดีฯศาลล้มละลายกลางเผย 4 เดือนแรกปีนี้มีคดีล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ 6,676 คดี ทุนทรัพย์ทะลุ 1.1 แสนล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นาย อนันต์ วงษ์ประภารัตน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปี 2552 (ตั้งแต่เดือนมกราคม-30 เมษายน 2552) ในช่วง 4 เดือนแรก มีปริมาณคดีล้มละลายเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลล้มละลายกลาง 6,662 คดี ทุนทรัพย์ประมาณ 85,355 ล้านบาท ส่วนคดีฟื้นฟูกิจการมี 14 คดี ทุนทรัพย์ประมาณ 33,063 ล้านบาท
รวมทุนทรัพย์คดีล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ มีมูลค่าทุนทรัพย์สูงถึง 118, 419
ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีคดีสาขา 89 คดี และคำขอชำระหนี้ 2,986 คดี

ทั้ง นี้เนื่องจากเป็นช่วงคดีใกล้หมดอายุความ 10 ปี เจ้าหนี้จึงเร่งฟ้องอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคาร เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บริษัทเงินทุน เป็นบุคคลธรรมดา ที่มีปัญหา อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบคดีล้มละลายในช่วงเดียวกัน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2551 ถึง 1,220 คดี

" 3-4 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มคดีล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับปี 2542 ที่มีการจัดตั้งศาลล้มละลายกลาง โดยเฉพาะหนี้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ เป็นคดีที่ค้างมาจากผลพวงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ตัวเลขออกชัดเจนในช่วงนี้ ส่วนคดีในปี 2552 และต้นปี 2553 จะเห็นผลในช่วงปลายปี 2552 ในรูปของคดีฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นวัฏจักรของคดี ส่วนคดีแพ่งที่จะกลายเป็นคดีล้มละลายในอนาคต ก็จะตามมาหลังจากนี้ "

นายอนันต์กล่าวถึงประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่า เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายฟื้นฟู ใช้ได้เฉพาะกับนิติบุคคลซึ่งใช้มายาวนาน ฉะนั้นกฎหมายใหม่ที่จะแก้ไขทั้งระบบ โดยจะเปิดช่องให้บุคคลธรรมดา สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ ลูกหนี้สามารถเดินมายื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายได้ด้วยตัวเอง

"ถ้าลูกหนี้หันมาใช้กระบวนการฟื้นฟู อาจจะทำให้เขาไม่ล้มละลาย ธุรกิจก็ไม่ชะงัก ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถหาแหล่งเงินทุน หาผู้ทำแผน มาฟื้นฟู มาดำเนินการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แล้ว โดยให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ"

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในกรณีลูกหนี้ขอฟื้นฟูกิจการในคดีฟื้นฟูกิจการคือ ถ้าลูกหนี้มีบริษัทในเครือ และสามารถออกเสียงจัดตั้งทำแผนฟื้นฟูได้ ทำให้เจ้าหนี้ที่แท้จริงเสียเปรียบ ประเด็นนี้ควรจะต้องดำเนินการแก้ไข โดยเสนอให้แก้ไขตัดเสียงของบริษัทในเครือลูกหนี้ออกไป ถือว่าไม่มีสิทธิออกเสียง ซึ่งการแก้ไขข้อนี้ ทำให้นับเฉพาะเสียงเจ้าหนี้ที่แท้จริง

ทั้งนี้ จะมีการจัดสัมมนาเรื่องการพัฒนากฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 18 มิถุนายน โดยผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายสมศักดิ์ จันทรา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและนายสุรศักดิ์ วาจาสิทธิ์

อธิบดีศาลล้มละลายกลางยังกล่าวว่า หลังจากย้ายที่ทำการศาลมาอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ปัญหาที่พบขณะนี้ ก็คือจำนวนผู้พิพากษาไม่เพียงพอ ต่อคดีที่ล้นศาล เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นคดีที่ค้างมาจากปีที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายที่ทำการศาล ทำให้ต้องงดพิจารณาไป ถึงวันนี้เมื่อ มีคดีใหม่เพิ่มอีก 6 พันกว่าคดี ทำให้ผู้พิพากษา 1 ท่านต้องพิจารณาคดีต่อวันมากกว่า 10 คดี เฉลี่ยแล้ว 1 ปี ผู้พิพากษา 1 ท่าน ต้องพิจารณา 1,000 คดี

" วันนี้ จำนวนผู้พิพากษากับคดีในศาล ถือว่าโหลดมาก ในความเห็นผมคิดว่า ตัวเลขควรจะอยู่ที่ผู้พิพากษา 1 ท่าน ต่อ 500 คดีต่อปี จึงจะเหมาะสม แต่ทุกวันนี้มากไปกว่านั้นแล้ว ผู้พิพากษาเรามีเพียง 23 คน ซึ่งไม่เพียงพอ เฉลี่ยแล้วผู้พิพากษาหนึ่งคนต่อ 1,000 กว่าคดี ถือว่าสูงมาก"

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ